ประเภทของโรงเรียนมัธยม

ประเภทของโรงเรียนมัธยม

ถาม โรงเรียนนิวซีแลนด์มีทั้งหมดกี่แบบ ต่างกันอย่างไร

ตอบ แบ่งได้หลายแบบมาก ขึ้นอยู่กับว่าเอาอะไรเป็นเกณฑ์ เช่น

• ถ้าเอาลักษณะความเป็นเจ้าของเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 3 แบบ คือ โรงเรียนรัฐ (State School) , โรงเรียนเอกชน (Private หรือ Independent School) และโรงเรียนที่เอกชนเป็นเจ้าของสถานที่ แต่รับเงินค่าดำเนินการจากรัฐ เรียกว่า State-Integrated คือกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชน

• ถ้าเอาเพศของเด็กเป็นเกณฑ์   มี 3 แบบ คือโรงเรียนสหศึกษา, ชายล้วน และหญิงล้วน

• ถ้าเอาระดับชั้ที่เปิดสอนเป็นเกณฑ์ ก็จะแบ่งออกได้เป็น 5 แบบ คือ

  1. Primary School (Year 1-6)
  2. Intermediate หรือ Middle School (Year 7-8)
  3. Secondary หรือที่เรียกกันติดปากว่า High School (Year 9-13)
  4. Composite หรือ Area School (Year 1-13)
  5. ลูกผสม คือโรงเรียนที่รวมเอา Middle School กับ High School เอาไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเปิดสอนตั้งแต่ Year 7-13  จะพบมากในกลุ่มโรงเรียนในเครือคริสตจักรที่เป็น State Integrated และในเขตการศึกษาห่างไกล ที่มีจำนวนนักเรียนในระดับชั้น Intermediate ไม่มากพอที่จะเปิดเป็นโรงเรียน Intermediate เป็นการเฉพาะ

• ถ้าเอาประเภทที่พักเป็นตัวตั้ง มี 2 แบบ คือแบบอยู่ประจำกับแบบอยู่โฮมสเตย์

• ถ้าเอาจำนวนนักเรียนเป็นตัวตั้ง ก็ต้องบอกว่ามี 4 แบบ คือโรงเรียนขนาดใหญ่ นักเรียน 1,500 คนขึ้นไป, ขนาดกลาง นักเรียน 700-1400 คน, ขนาดเล็ก นักเรียน 300-600 คน และขนาดจิ๋ว นักเรียน 30-299 คน (มีจริงๆ)

• ถ้าเอาสถานที่ตั้งของโรงเรียนเป็นตัวตั้ง ก็ต้องบอกว่า มี City School และ Local School

    o City School เป็นโรงเรียนที่สามารถรับนักเรียนจากนอกโซนที่โรงเรียนตั้งอยู่ได้ กรณีนี้นักเรียนจะมาจากทั่วทุกสารทิศ โดยปกติจะเป็นโรงเรียนเอกชนหรือกึ่งเอกชนที่ได้รับความนิยม

    o Local School เป็นโรงเรียนรัฐที่มีกฎว่าต้องรับนักเรียนทุกคนที่มีเลขที่บ้านอยู่ในโซนที่โรงเรียนตั้งอยู่ก่อน เสร็จแล้วถ้ามีที่ว่างเหลือสามารถเปิดรับนักเรียนนอกโซนได้ด้วยวิธีจับฉลาก

จากประสบการณ์บอกได้ว่า การเป็น City หรือ Local School ไม่มีผลกับตำแหน่งที่ตั้งของบ้านโฮมสเตย์ แต่จะมีผลกับสไตล์ของนักเรียนที่เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียน ว่ามาจากครอบครัวที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างไร

จะเห็นว่าพ่อแม่และนักเรียนต้องทำการบ้านหนักมาก ว่าจะเลือกโรงเรียนที่มีบรรยากาศแบบไหน ให้สอดคล้องและประนีประนอมกับความต้องการของพ่อแม่และของนักเรียนมากที่สุด

ความจริงบางประการเกี่ยวกับการไปเรียนต่างประเทศ 

  1. โรงเรียนที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องแพงที่สุด
  2. โรงเรียนที่เหมาะกับนักเรียนคนหนึ่ง อาจไม่เหมาะกับนักเรียนอีกคนหนึ่
  3. โรงเรียนให้ดียังไง ถ้านักเรียนไม่สนใจเรียน ไปเรียนที่ไหนก็ไม่แตกต่าง
  4. การไปเรียนเมืองนอก ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการไปทัวร์แบบประเดี๋ยวประด๋าว หรือการไปซัมเมอร์คอร์ส นักเรียนจะมีครบทุกอารมณ์ ทั้งสุข สนุกสุดขีด รู้สึกตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจไปกับสิ่งแวดล้อมใหม่รอบตัว ซาบซึ้งกับไมตรีของคนแปลกหน้า แต่อยู่ได้สักพักหนึ่ก็อาจเกิดอารมณ์สับสน มึนงง ตั้งตัวไม่ติด ไม่รู้จะไปซ้ายหรือขวา ทำอะไรก็ติดๆขัดๆ เพราะคิดได้แต่พูดไม่ออก อาจรู้สึกทำไมตัวเองตามอะไรไม่ค่อยทัน เพราะโน่นก็ใหม่ นี่ก็ไม่รู้ จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มแก้ตรงไหนก่อน ถ้าหลุดจากตรงนี้ไม่ได้ อารมณ์ต่อมาคือหดหู่ ซึมเศร้า แยกตัว อยากกลับบ้าน อยากกินอาหารไทย อยากมีอิสระไปไหนๆ ได้คล่องๆ เหมือนตอนอยู่เมืองไทย ในที่สุดก็จะทำทุกอย่างไปอย่างแกนๆ ไม่สมกับที่โชคดีได้มีโอกาสมาเรียนถึงต่างประเทศ
  5. นักเรียนที่จะประสบความสำเร็จกับการเรียนและการใช้ชีวิตการเรียนในต่างประเทศ ไม่ถึงกับต้องลุยน้ำลุยไฟได้ ชีวิตไม่ได้ลำบากขนาดนั้น แต่ต้องไม่ติดหรูจนเกินพอดี ไม่เป็นลูกคุณหนู ไม่มีนิสัยนั่งรอให้ใครมาปรนนิบัติเอาใจ แสดงออกได้สมวัย รู้จักให้และรับอย่างพอเหมาะพอดี เป็นผู้ฟังและผู้เรียนรู้ที่ดี  รับผิดชอบหน้าที่และชีวิตประจำวันของตนเองได้ มีวินัยพอที่จะปฏิบัติตนตามกฎของบ้านโฮมสเตย์ หรือกฎของหอพัก และกฎของโรงเรียนได้
  6. นอกจากเป็นความตั้งใจของคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกไปเรียนต่างประเทศ ตัวนักเรียนควรจะต้องมีความกระตือรือร้นและมีความต้องการที่จะไปเรียนเองด้วย เพราะเด็กที่ถูกบังคับให้ไปเรียน จะไม่มีแรงพอจะสู้กับแรงกดดันต่างๆ และการที่จะต้องยืนบนลำแข้งของตัวเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยวุฒิภาวะอย่างมาก
  7. พ่อแม่ต้องเตรียมตัวที่จะจัดเวลาให้กับลูกมากขึ้นอีก ในยามห่างกาย ลูกวัยรุ่นจะต้องการกำลังใจจากคุณมากและบ่อยเป็นพิเศษ ควรจะแน่ใจว่า คุณมีเวลาที่จะโทร.หาเขาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และยินดีรับฟังทุกครั้ที่ลูกโทร.มาขอคำปรึกษา ไม่ว่าคุณจะเห็นว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน หรือว่าคุณจะยุ่งขนาดไหนก็ตาม ห้ามบอกว่าไม่ว่างคุย เพราะเวลาของสองประเทศที่แตกต่าง ลูกอาจต้องรออีกเป็นวัน กว่าจะติดต่อคุณได้อีกครั้งหนึ่

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกโรงเรียน


A. งบประมาณของครอบครัว 

>  โรงเรียนรัฐ  คิดค่าเรียนปีละ $15,000 - $17,000 NZD
>  โรงเรียนกึ่งเอกชน คิดค่าเรียนปีละ $17,000 - $22,000 NZD  
>  โรงเรียนเอกชน คิดค่าเรียนปีละ $47,000 - $52,000 NZD

อัตรานี้ยังไม่รวมค่าที่พัก อาหาร แรกเข้า แอดมินฟีต่างๆ ประกันสุขภาพ ค่ากิจกรรม เครื่องแบบนักเรียน รถบัส ค่าทริปต่างๆ  School Camp และค่าสอบต่างๆ  (บวกเพิ่มอีกปีละประมาณ $30,000 - $35,000 ไม่ว่าจะไปโรงเรียนประเภทไหน)

ถ้าอยู่ประจำค่าหอจะยังไม่รวมค่าโฮมสเตย์ช่วงปิดภาคเรียนอีกประมาณ $3,000 ต่อปี  โรงเรียนประจำเอกชนส่วนใหญ่กำหนดให้ต้องมีการ์เดี้ยน
ในนิวซีแลนด์ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อีกปีละ $3,000-$4,000

ถ้านักเรียนไปโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนเห็นว่าภาษายังดีไม่พอและยังต้องเรียน ESOL ทางโรงเรียนจะคิดค่าเรียน ESOL ต่างหากไม่รวมในค่าเล่าเรียน  อัตราต่อปีอยู่ที่ประมาณ $3,000 NZD  


B. ภาษาที่ใช้เรียนเมื่อเรียนที่ไทย ซึ่งส่งผลทำให้มีความถนัดทางภาษาไม่เท่ากัน

นักเรียนที่มาจากโรงเรียนนานาชาติในเมืองไทย (ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเป็นทุนอยู่แล้ว) มีแนวโน้มจะเรียนต่อเนื่องได้ดีและมีความสุขกับระบบโรงเรียนเอกชนของนิวซีแลนด์ซึ่งมีความเข้มข้นทางวิชาการในภาพรวมสูงกว่าโรงเรียนรัฐ (มีหลักสูตรให้เลือกเรียนทั้ง NCEA, IB และ Cambridge) โรงเรียนบางแห่งจะกำหนดระดับภาษาแรกเข้าและต้องนำผล IELTS ไปแสดง โดย IELTS รับเข้าเรียน รร เอกชน จะอยู่ที่ประมาณ 5.0-5.5 

โรงเรียนเอกชนจะไม่ค่อยอยากรับนักเรียนที่มาจากโรงเรียนไทยตรงๆค่ะ แต่จะชอบมากถ้าเด็กๆ มาจากโรงเรียนนานาชาติ หรือเคยเรียนโรงเรียนอื่นในนิวซีแลนด์มาก่อน (มีระดับภาษาที่ดีแล้ว ใช้ภาษาได้คล่อง และเรียนได้เลยในชั้นเรียนของเขาโดยไม่ต้องเรียนภาษาอังกฤษเสริมอีก)


ส่วนนักเรียนที่ไปจาก
โรงเรียนรัฐหรือเอกชนคาธอลิคของไทย (ใช้ภาษาไทยเป็นหลักในการเรียนหรือเรียนไทยอังกฤษอย่างละครึ่ง) การเรียนในโรงเรียนรัฐบาลหรือกึ่งเอกชนในนิวซีแลนด์ จะเอื้อกับนักเรียนมากกว่าเพราะจะมีการสอนวิชาภาษาอังกฤษเสริมอย่างเป็นระบบ (มีจำนวนนักเรียนที่ต้องเรียนภาษาอังกฤษเสริมจำนวนมากจึงมีคลาสเรียนเสริมภาษาหลายระดับ)  โรงเรียนรัฐและกึ่งเอกชน จะผนวกรวมคลาส ESOL เป็นส่วนหนึ่งของค่าเล่าเรียนและจะไม่คิดเงินเพิ่ม 


C. ความคาดหวังของครอบครัวที่มีต่อโรงเรียนและผลการเรียนของนักเรียน

โรงเรียนเอกชนและกึ่งเอกชนส่วนใหญ่ “ขายได้” ด้วยการให้บริการทางการศึกษาแบบเข้มข้น มีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานมากกว่าและมีงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างที่สูงกว่าโรงเรียนรัฐ ทำให้สามารถดึงดูดบุคลากรคุณภาพจากหลากหลายประเทศ โรงเรียนเอกชนและกึ่งเอกชนส่วนมากจะมีกฎระเบียบเข้มงวดกว่าโรงเรียนรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในรูปแบบของเครื่องแต่งกาย การไม่อนุญาตให้ใส่เครื่องประดับหรือทำผมทรงแปลกๆ การเข้าโบสถ์ประจำสัปดาห์ ชั่วโมงเรียนวิชาศาสนา กิจกรรมกีฬา ดนตรี ฯลฯ ที่หลากหลาย นักเรียนจะยุ่งอยู่ตลอดเวลาและจะถูกกำหนดให้เล่นกีฬาอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เล่นดนตรีอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ในโรงเรียนมี Facilities ต่างๆ ครบ เปิดตั้งแต่เช้ามืดจนถึงก่อนค่ำ เสาร์อาทิตย์เล่นได้

ในขณะที่บรรยากาศของโรงเรียนรัฐ นักเรียนจะมี “Free thinking” มากกว่า ไม่ถูกบังคับใดๆ ไม่มีคาบเรียนวิชาศาสนา ไม่ต้องเข้าโบสถ์ โรงเรียนรัฐขนาดใหญ่จะมีวิชาเรียนให้เลือกเรียนหลากหลายกว่า แต่ก็จะมีการติดตามดูแลน้อยกว่า และหลังเลิกเรียนจะไม่มีการทำกิจกรรมใดๆต่อ เท่าที่เห็นโรงเรียนรัฐส่วนใหญ่จะไม่มีนักเรียนเหลืออยู่ในโรงเรียนภายใน 30 นาทีหลังโรงเรียนเลิก ทุกคนไปทำกิจกรรมและเล่นกีฬาข้างนอก


D. ทัศนคติของทางบ้านเกี่ยวกับโรงเรียนชายล้วนหรือหญิงล้วน   

โรงเรียนนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่จะเป็นสหศึกษาในช่วงประถมและมัธยมต้น และจะเป็นชายล้วนหรือหญิงล้วนในช่วงชั้นมัธยมปลาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือได้หลายแหล่งในระดับนานาชาติ ระบุตรงกันว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีผลการเรียนดีขึ้นหรือดีกว่าเดิม เมื่อเรียนในโรงเรียนชายล้วนหรือหญิงล้วน เพราะไม่มีเพศตรงข้ามมาเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการเรียน  

ผลการวิจัยยังบอกอีกว่า เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง มีวิธีคิดที่แตกต่างกัน (think differently) เรียนรู้ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน (learn differently) และมี approach ในเรื่องต่างๆ ไม่เหมือนกัน โรงเรียนที่เป็นหญิงล้วนหรือชายล้วน จึงจะดีไซน์วิธีสอนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานจากความเข้าใจในบุคลิกภาพและแนวทางการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเพศนั้นๆ  ซึ่งส่งผลให้นักเรียนจากโรงเรียนชายล้วนหรือหญิงล้วน สามารถที่จะเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างทรงพลังมากกว่านักเรียนในโรงเรียนสหศึกษา โดยปราศจากแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเพศตรงข้าม 

นักเรียนในโรงเรียนชายหรือหญิงล้วน มีโอกาสเรียนรู้และทำได้ดี ในทักษะ
ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นทักษะของอีกเพศหนึ่ง เช่น นักเรียนหญิงในโรงเรียนสหศึกษา จะรู้สึกว่างานไม้หรือกีฬาฟุตบอลเป็นวิชาและกีฬาสำหรับเด็กผู้ชายและจะไม่ลงเรียนหรือเข้าร่วมเด็ดขาด แม้จะมีใจรักอยากจะเรียน เพราะ 1) ไม่มีเพื่อนผู้หญิงด้วยกันลงเรียน 2) กลัวว่าถ้าเรียนจะกลายเป็นจุดเด่น ทำให้เพื่อนผู้หญิงด้วยกันหมั่นไส้ 3) กลัวว่าถ้าเรียนได้ดีเกินกว่าผู้ชายจะทำให้ไม่มีเพื่อนผู้ชายคนไหนกล้าคบ ในทางกลับกัน เด็กผู้ชายในโรงเรียนชายล้วน ถ้าเปลี่ยนไปอยู่โรงเรียนสหศึกษา คงจะถูกล้อถ้าต้องการลทะเบียนเรียนวิชาอย่างคหกรรมศาสตร์ เย็บผ้า, ทำกับข้าว, หัดคิดทำงบประมาณครัวเรือน ซึ่งจริงๆแล้วเป็นทักษะที่ทุกคนควรจะมี!

ในนิวซีแลนด์ เราจึงจะเห็นเด็กจากโรงเรียนหญิงล้วนเตะฟุตบอล, สร้างเรือลำโตๆ, เชื่อมโลหะ ในขณะที่คงความเป็นเด็กผู้หญิง และไม่ต้องระวังตัวว่าจะกลายเป็นวัตถุทางเพศหรือถูกทำให้อับอายด้วยการถูกล้อเลียนที่แฝงประเด็นทางเพศ ในโรงเรียนชายล้วน เราจะเห็นเด็กผู้ชายเล่นกีฬากันอย่างบ้าคลั่งและสนุกในแบบผู้ชายๆ เป็นผู้ชายได้เต็มร้อยไม่ต้องกลัวจะอายสาวๆ ในขณะที่ก็ยังสามารถสนุกสนานกับการทำอาหารออกขายในงานของโรงเรียน หรือทำงานเย็บปักถักร้อยนำออกแสดงแฟชั่นโชว์ในงานโรงเรียน โดยที่ไม่ได้มีความเบี่ยงเบนทางเพศใดๆ

เมื่อไปเรียนโรงเรียนที่นิวซีแลนด์ เราแทบจะไม่เห็นการเบี่ยงเบนทางเพศ ถึงแม้นิวซีแลนด์จะเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดโอกาสให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ก็ตาม 
 

E. ข้อจำกัดทางกายภาพของลูก 

เช่น ทนหนาวไม่ได้ ควรเลือกไปอยู่เกาะเหนือ ชอบกีฬาทางน้ำ ควรเลือกโรงเรียนที่มีกีฬาประเภทนี้ให้เล่น โรงเรียนที่นิวซีแลนด์หลายโรงเรียน มี training centre อยู่ภายในโรงเรียนสำหรับกีฬาบางประเภท เช่น บางโรงเรียนมี Golf Academy, Riding School, Sailing Academy, Theatre Drama Academy, Ballet Academy, Tennis Academy, Diving School อยู่ภายในโรงเรียน

 

F. ประเภทที่พักที่โรงเรียนมีให้ 

เช่น ผู้ปกครองจำนวนมากตั้งธงไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะให้ไปเรียนในโรงเรียนที่มีประจำเท่านั้น (ไม่ให้อยู่โฮมสเตย์)

โปรดทราบว่าโรงเรียนในนิวซีแลนด์ที่รับนักเรียนอินเตอร์เข้าเรียนได้ จำนวนกว่า 300 โรงเรียนนั้น เป็นโรงเรียนประจำเพียงประมาณ 40-50 โรงเรียน และเมื่อตัดโรงเรียนที่ไปไม่ได้ออกเพราะเป็นชายหรือหญิงที่ลูกของท่านไปไม่ได้ และโรงเรียนพิเศษประเภทต่างๆ และโรงเรียนประถมออก ท่านจะเลือกได้เพียงประมาณ 10-15 โรงเรียนเท่านั้น และเมื่อถูกจำกัดด้วยงบประมาณ (แพงเกินไป) หรือที่ตั้งของเมือง (ไม่เอาเมืองที่ไม่มีท่าอากาศยานนานาชาติ) หรือด้วยจำนวนนักเรียน (ไม่เอาโรงเรียนเล็กนักเรียนไม่ถึง 500 คน) หรือด้วยค่าเดไซล์ (ไม่เอาโรงเรียนที่ได้เดไซล์ต่ำ) ก็จะเหลือให้เลือกจริงๆ ได้ 3-7 โรงเรียนเท่านั้นเป็นอย่างมาก และโรงเรียนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะ "เต็ม" อยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในกลุ่มเด็กโลคัลชาวนิวซีแลนด์  


คำแนะนำจากใจนะคะ...

1. สมัครแต่เนิ่นๆ (อย่าปล่อยให้ถึง ต.ค. แล้วค่อยติดต่อ) เพราะที่ว่างในโรงเรียนต่างๆ จะทยอยเต็มตั้งแต่เดือนเมษายนของปีก่อนหน้า

2. เผื่อใจไว้สำหรับการอยู่โฮมสเตย์บ้าง (นักเรียนประจำแทบทุกโรงเรียนจะถูกบังคับให้ออกหอช่วงปิดเทอมย่อยอยู่ดี นิวซีแลนด์มีปิดเทอมย่อยปีละ 6-7 สัปดาห์ (ปีการศึกษาของนิวซีแลนด์มี 4 เทอม แต่ละเทอม 2 เดือนครึ่ง มีปิดเทอมย่อย 2 หรือ 3 สัปดาห์ ในทุกๆ 10 สัปดาห์) ถ้าลูกไม่กลับไทยทุกปิดเทอม ยังไงต้องได้ไปอยู่โฮมสเตย์บ้างอยู่แล้วค่ะ โรงเรียนประจำถ้าที่ในหอเต็มจะถามท่านว่า ขอให้อยู่โฮมสเตย์ไปก่อนได้หรือไม่ แล้วจะลงชื่อ Waitlist ที่ว่างในหอให้ ซึ่งบางทีก็จะมีว่างช่วงกลางเทอมบ้าง กลางปีบ้าง เด็กย้ายเข้าย้ายออกกันตลอดเวลาค่ะ มีทั้งเด็กช็อทเทอร์มจากเยอรมันหรือญี่ปุ่นที่ชอบมาอยู่แค่ 2-3 เทอม เด็กที่ย้ายตามพ่อแม่ไปทำงานต่างประเทศ ฯลฯ บางทีอาจจะต้องเข้าไปเป็นเด็กในก่อนค่ะเพื่อจะได้ priority จับจองที่ว่างในหอ

3. ขอให้เชื่อเอเจนซี่ว่าเราจะช่วยเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับลูกของท่านและความคาดหวังของท่านมากที่สุด  กรุณาเปิดโอกาสให้เราทำงาน อย่าเชื่อคนอื่นมากกว่าเอเจนซี่ค่ะ 

4. ถ้ามีผู้ใหญ่ในบ้านที่อาจจะขัดขวางการไปเรียนต่อของบุตรหลาน กรุณาเคลียร์กับผู้ใหญ่ให้เรียบร้อยก่อนติดต่อเอเจนซี่ จะเป็นพระคุณยิ่งค่ะ

ขอแสดงความนับถือ

ฌอนน่า ณ สงขลา

รายการล่าสุดที่คุณดู
Visitors: 188,923