ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองต่างๆ ในนิวซีแลนด์ พร้อมลิ้งค์เข้าดู  Youtube Video ของเมือง


Make a Smart & Informed Choice  เลือกอย่างชาญฉลาด ผ่านการทำความรู้จักแต่ละเมืองของนิวซีแลนด์

**Tip** คลิกที่รูปเมืองหรือที่ชื่อเมือง เพื่อชม Youtube VDO แนะนำเมือง 


  • ด้วยจำนวนประชากร 1.4 ล้านคน และสถาบันการศึกษามากมายให้เลือกสรร "โอ๊คแลนด์" จึงไม่เพียงแต่เป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโอกาสในการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด สมญานาม "City of Sails" ด้วยสัดส่วนเรือใบต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลก โอ๊คแลนด์จึงเป็นเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจ เป็นสวรรค์ของนักล่องเรือ เมืองมีภูมิทัศน์สวยงาม มีย่านการค้าที่ทันสมัย ในขณะเดียวกันก็ใกล้ชิดธรรมชาติด้วยชายฝั่งและเกาะแก่งที่อยู่ห่างจากใจกลางเมืองไปเพียง 10-15 นาที โอ๊คแลนด์เป็นบ้านเกิดและที่ทอดกายตลอดกาลของ Sir Edmund Hilary ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักปีนเขาคนแรกของโลกที่พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953) ในแต่ละปีมีนักเรียนนักศึกษานานาชาติจำนวนกว่า 70,000 คนจากทั่วโลก เลือกมาศึกษาและเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ที่เมืองนี้

  • สมญานาม "The Coolest Little Capital of the World" โดย Lonely Planet ย่อมไม่ได้มีที่มาแบบโชคช่วย "กรุงเวลลิงตัน" เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ที่มีประชากรสี่แสนคนแห่งนี้ เป็นที่รวมของ Art Scene เก๋ๆ ศิลปะทุกแขนง รัฐสภาและหน่วยงานรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งสถานทูตไทยในนิวซีแลนด์ เมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของ Victoria University of Wellington (VUW), Weltec, Le Gordon Bleu, NZ School of Music, NZ School of Dance มี Art Scenes สวยๆ แกลเลอรี่ศิลปะ เป็นแหล่งรวมตัวของศิลปิน สถาปนิก นักกราฟฟิคดีไซน์ เป็นเมืองที่ศิลปะและผู้คนหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เมืองนี้เป็นบ้านเกิดของ Sir Peter Jackson ผู้กำกับฮอลลีวู้ดร่วมสมัยชื่อก้องโลก และจึงมี Weta Studio ซึ่งเปิดให้เข้าชมอุปกรณ์และเบื้องหลังการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ไตรภาค Lord of The Ring ว่ากันว่าเวลลิงตันมีสัดส่วนของร้านกาแฟต่อจำนวนประชากรสูงกว่านิวยอร์คเสียอีก และยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงว่าลมแรง เนื่องจากตั้งอยู่ปลายสุดด้านล่างของเกาะเหนือถัดจากช่องแคบคุ้ก

  • ไคร้สเชิร์ช เปิดประตูกว้างสู่สถาบันการศึกษาคุณภาพเยี่ยมที่ยืนหยัดอย่างสง่างามในห้วงของการเปลี่ยนผ่าน เป็นเมืองที่คนนิวซีแลนด์เกือบสี่แสนคนเรียกว่า "บ้าน" และยังคงเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของประเทศ พิสูจน์แล้วด้วยจำนวนนักเรียนนักศึกษานานาชาติกว่าหมื่นคนต่อปี ที่ไปเรียนที่เมืองนี้ในปี 2018 Christchurch เป็นแหล่งรวมโรงเรียนมัธยมชั้นดี สถาบันภาษาชั้นเยี่ยม เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Canterbury สถาบันภาษา CCEL และ UC International College จากไทยนักเรียนสามารถนั่งเครื่องไปลงไคร้สเชิร์ชได้อย่างสะดวกสบาย มีเที่ยวบินของเอมิเรตส์ แควนตัส และสิงคโปร์แอร์ไลน์สายการบินละเที่ยวออกจากไทยทุกวัน ปัจจุบันไคร้สเชิร์ชปลอดภัยจากแผ่นดินไหวและกลายเป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมโฉมใหม่ล่าสุด ด้วยเงินลงทุนถึงหนึ่งแสนหกหมื่นล้านบาท(NZ$ 6.5 BILLION)ในการซ่อมสร้างและออกแบบผังเมืองใหม่ เพื่อคงความเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าการศึกษาที่สำคัญที่สุดของเกาะใต้ต่อไป

  • ็Hamilton (แฮมิลตัน) เป็นเมืองในแคว้นไวคาโต้ (Waikato) ของเกาะเหนือ ที่มีประชากร 169,300 คน มากเป็นอันดับสี่ของนิวซีแลนด์ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Waikato ซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดของนิวซีแลนด์ (แม่น้ำไวคาโต้มีความยาวกว่า 425 ก.ม. ไหลจากภูเขาสูงกลางเกาะเหนือ Mt Reupehu ผ่านเมืองเทาโป - ก่อเกิดทะเลสาบ Taupo ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์ และ Huka Fall ก่อนจะไหลขึ้นเหนือผ่านใจกลางเมืองแฮมิลตันไปลงทะเลที่ด้านใต้ของเมืองโอ๊คแลนด์)

    แฮมิลตันเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณเมืองแฮมิลตันและปริมณฑลซึ่งรวมถึงเมืองใกล้เคียงอย่าง Ngaruawahia, Te Awamutu และเคมบริดจ์ (Cambridge) เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจและเป็นเขตเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับสามในนิวซีแลนด์ตามหลังเพียง Pukekohe และ Auckland เท่านั้น

    การศึกษาและรายได้จากการทำวิจัยและพัฒนา เป็นองค์ประกอบสำคัญในทางเศรษฐกิจของแฮมิลตัน เนื่องจากเมืองนี้เป็นที่ตั้งของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาประมาณ 40,000 คนและนักวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาเอก 1,000 คน ที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยไวคาโต้ (U of Waikato) และ Wintec (Waikato Institute of Technology)

    นอกจากนั้นเนื่องจากอยู่ใกล้กับโอ๊คแลนด์ สถาบันอุดมศึกษาใหญ่น้อยอีกหลายแห่ง ต่างก็เลือกแฮมิลตันเป็นที่ตั้งแคมปัสรองของตน เป็นการกระจายนักศึกษาต่างชาติออกจากโอ๊คแลนด์ ตามนโยบายของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ที่จะให้สิทธิ์นักศึกษาต่างชาติที่ไม่ได้เรียนในโอ๊คแลนด์ ได้สิทธิ์ประโยชน์เพิ่มขึ้นในการได้วีซ่าทำงานหลังเรียนจบนานขึ้น 1 ปี เพื่อระบายความแออัดและแก้ไขปัญหาจราจรในโอ๊คแลนด์

    สำหรับนักเรียนมัธยม ระยะทางที่ใกล้กับโอ๊คแลนด์เพียง 90 นาทีขับรถ ทำให้แฮมิลตันเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการโรงเรียนชั้นดีให้ลูก ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเล่นกีฬาและทำกิจกรรมต่าง ๆ และไปกลับโฮมสเตย์ได้ไม่ลำบากในชีวิตประจำวัน ค่าครองชีพประหยัดกว่า และมีโรงเรียนประจำให้เลือกหลายแห่งมากกว่าในโอ๊คแลนด์ นักเรียนสามารถบินตรงกับการบินไทย ลงโอ๊คแลนด์ แล้วโรงเรียนส่งรถมารับถึงที่สนามบิน นักเรียนที่อยู่นานแล้วมักนัดหมายกับเพื่อน ๆ ที่จะกลับไทยด้วยกัน และกลับมาเรียนพร้อมกันในเที่ยวบินเดียวกัน

    ไวคาโต้เป็นศูนย์กีฬาทางน้ำที่สำคัญของเกาะเหนือ พื้นที่รอบนอกเป็นฟาร์มโคนม และคอกเพาะพันธุ์ม้าแข่งระดับโลก ภูมิประเทศที่เป็น inland ไม่ติดชายทะเลของแฮมิลตัน ทำให้เมืองนี้มีอากาศร้อนสุดเย็นสุด อุณหภูมิต่ำสุดหน้าหนาวที่เคยวัดได้คือ -4 องศา และร้อนสุด 29 องศาเซลเซียส นอกจากนั้นยังเป็นเมืองที่มีความชื้นค่อนข้างสูงคล้ายสิงคโปร์ หน้าหนาวอาจมีน้ำค้างแข็งได้ในบางวัน หิมะเป็นไปได้แต่นานๆที หมอกเป็นสิ่งที่พบได้เสมอในหน้าหนาวโดยเฉพาะแถวริมแม่น้ำ ปกติจะจางก่อนเที่ยง ปริมาณน้ำฝน (ตก 125 วันต่อปี) และแสงแดดสม่ำเสมอตลอดปี (ปีละ 2,000 ชั่วโมง) ทำให้ไวคาโต้เป็นเขตที่ทำการเกษตรได้ดี เมืองนี้เป็นเมืองที่ลมไม่แรงเพราะอยูู่ในพื้นทวีป

    ประชากรแฮมิลตันเมื่อรวมเมืองโดยรอบมีสูงถึง 241,200 คน (4.9% ของประเทศ) ส่วนใหญ่เป็นชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายยุโรปผิวขาว (69.5%) รองลงมาเป็นเมารี (21.3%) เอเชีย (13.8%) และเชื้อชาติอื่นๆ อีก 7% ทั้งหมดนับรวมได้มากกว่า 80 เชื้อชาติ ประชากรแฮมิลตันจำนวน 24% ไม่ได้เกิดในนิวซีแลนด์ คนแฮมิลตันจำนวนสูงถึงเกือบ 50% นับถือศาสนาคริสต์ และ 8.3% ไม่ได้นับถือคริสต์ 41.6% ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ และประมาณ 4.2% ไม่ต้องการตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในจำนวนผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ ประมาณ 12% เป็นคาทอลิค ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ Anglican (Church of England) 9.9% และ Presbyterian 6.3% ในกลุ่มคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ สามอันดับแรกคือ Hindu 2.9%, Islam 1.9% และ พุทธ 1.6%

    ไวคาโต้เป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลต่างๆ ที่น่าสนใจตลอดปี มีทุกเดือน เดือนละหลายงาน
    January: Parachute music festival (discontinued after 2014), Festival One (from 2015)
    February: Hamilton Gardens Arts Festival, Couch Soup Festival of One-Act Plays
    March: Waikato Food & Wine Festival
    March: Soundscape
    March: Indigo Festival
    April: The Great Pumpkin Carnival at Hamilton Gardens
    April: Waikato Show
    April: Armageddon Expo Sci Fi & Comics Convention
    April: Balloons over Waikato - hot air ballooning festival
    April: 5 Bridges River Swim
    May: Hamilton Circle Jerk music event
    June: National Agricultural Field Days
    June: Hamilton Fuel Festival
    July: Soundscape Tronik DJs play at the sellout Soundscape street party
    August: World Rally Championship
    August: International Festival of Media, Arts and Design
    August: International Film Festival
    September: Hamilton Pride Festival
    September: The Great Race
    September: Hamilton Fringe Festival
    September: Hamilton Underground Film Festival
    November: Bridge to Bridge water skiing event

    สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก้องโลกของแคว้นไวคาโต้ คือ Waitomo Glowworm Cave ถ้ำหนอนเรืองแสงนับล้าน ๆ ตัว ที่อยู่ลึกลงไปใต้พิภพ ตามแนวลำธารในโถงถ้ำที่มืดสนิท (Hamilton-Waitomo Cave ขับรถประมาณ 1 ช.ม.) และสตูดิโอธรรมชาติ สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดของปีเตอร์ แจ็คสัน - The Hobbit ที่อยู่ในเมือง Matamata (Hamilton-Matamata ขับรถประมาณ 45 นาที) น้องๆ มัธยมที่ไปเรียนในเมืองนี้ ทางโรงเรียนจะพาไปทำกิจกรรมนอกเมืองอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นไปโอ๊คแลนด์ โรโตรัว มาทามาท่า เทาโป หรือไวโตโม่ หน้าหนาวโรงเรียนจะจัดสกีทริปไปตอนกลางของเกาะเหนือที่ Whakapapa หรือ Tukino ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา Mount Ruapehu (เม้าท์รัวเพฮู) ซึ่งเป็นลานสกีที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์

  • Tauranga (ทารองง่า) เมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในนิวซีแลนด์ เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาค Bay of Plenty ของเกาะเหนือ เป็นเมืองใหญ่อันดับห้าของนิวซีแลนด์ มีประชากร 141,600 คน แซงหน้าเนเปียร์-แฮสติ้งส์ และดะนีดิน

    Tauranga ผสมผสานความเป็นเมืองการศึกษาและหัวเมืองชายทะเลไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เหมาะกับนักเรียนที่ไม่ชอบอากาศหนาว เมืองนี้ได้ชื่อว่ามีแสงแดดอบอุ่นที่สุดในนิวซีแลนด์ เป็นเมืองท่าขนส่งสินค้า มีเรือสำราญ (Luxury Cruise Ship) มาจอดเทียบท่าทุกสัปดาห์ โดยมี Rotorua เมืองหลวงแห่งกิจกรรมท่องเที่ยวของเกาะเหนือ ตั้งอยู่ห่างออกไปเพียงประมาณ 70 กิโลเมตร

    ทารองง่าเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจหลักของนิวซีแลนด์ สำหรับธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ศิลปวัฒนธรรม แฟชั่น และวิทยาศาสตร์พืชสวน ท่าเรือ Tauranga เป็นท่าเรือส่งของออกไปจำหน่ายต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์

    Tauranga และ Bay of Plenty ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนซึ่งมีประสบการณ์แผ่นดินไหวไม่บ่อยนักและมีภูเขาไฟอยู่รอบ ๆ บริเวณนี้ (ส่วนใหญ่อยู่เฉยๆ) สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดคือ White Island และ Mauao ชื่อเล่น "The Mount" โดยคนในท้องถิ่น

    ประชากรทารองง่าประมาณ 18% มีอายุเกินกว่า 65 ปี เนื่องจากเมืองนี้มีอากาศอบอุ่น จึงเป็นที่ที่มีผู้สูงวัยจากอังกฤษอพยพย้ายถิ่นมาอยู่กันหนาตา ข้อมูลล่าสุด ทารองง่ามีประชากรเชื้อสายยุโรป 83.5% ชาวเมารี 17% ชาวเอเชีย 5.6% ส่วนใหญ่เป็นคนอินเดียและคนจีน ชาวหมู่เกาะแปซิฟิค 2.4% ที่เหลือเป็นเชื้อชาติอื่น ๆ

    ทารองง่ามีแคมปัสของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาตั้ง มีสถาบันเทคโนโลยีของแคว้น Bay of Plenty และโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง มีสถาบันภาษาหนึ่งแห่ง

    ทารองง่าเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาล Jazz Festival ระดับประเทศทุกปีในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ เมืองนี้เป็นเมืองที่ศาสนจักรต่าง ๆ ค่อนข้างเฟื่องฟู ทั้งที่เป็นศาสนาคริสต์นิกายต่าง ๆ และศาสนาอื่นๆทั้งของตะวันออกและตะวันตก จะเห็นโบสถ์และวัดของแทบทุกศาสนาอยู่ที่เมืองนี้

    ทารองง่ามีสเตเดี้ยมใหญ่หนึ่งแห่ง คือ Baypark Stadium ซึ่งจัดแข่งรถช่วงซัมเมอร์และแข่งรักบี้ในช่วงวินเทอร์ มีทีมฟุตบอลประจำเมือง Tauranga City United และมีชมรมพายเรือ 2 ชมรม

    รอบๆ เมืองทารองง่าเป็นชายหาด สวนผลไม้ โดยเฉพาะกีวีฟรุต อโวคาโด ฟาร์มผึ้ง บริษัทที่ทำการเกษตรหลายแห่งเลือก Tauranga เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ Zespri ผู้ส่งออกกีวีฟรุตรายใหญ่ของโลก และ Comvita ผู้ผลิตน้ำผึ้งอินทรีย์คุณภาพของนิวซีแลนด์

  • Dunedin (ดะนีดิน) ประชากร 130,700 คน เป็นเมืองใหญ่อันดับ 7 ของนิวซีแลนด์ และใหญ่เป็นอันดับสองของเกาะใต้รองจากไครสต์เชิร์ช เป็นเมืองหลักของแคว้นโอทาโก ชื่อเมืองมาจากภาษาเกลิคของสก๊อตแลนด์สำหรับเรียกเอดินบะระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์

    พื้นที่เขตเมืองของดะนีดินตั้งอยู่บนชายฝั่งโดยมีเนินเขาอยู่รายรอบ ซึ่งเป็นซากภูเขาไฟที่ดับแล้ว
    ระหว่างปี ค.ศ. 1855 ถึง 1900 ชาวสก็อตหลายพันคนอพยพไปยังเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้น ชาวดะนีดินกลายเป็นเศรษฐีในช่วงยุคตื่นทอง ในช่วงกลางทศวรรษ 1860 และระหว่างปี 1878 และ 1881 ได้กลายเป็นชุมชนเมืองที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ แม้เมื่อภายหลังจะไม่ได้เป็นเมืองใหญ่ที่สุดแล้ว แต่ Dunedin ยังถือว่าเป็นหนึ่งในสี่เมืองหลักของนิวซีแลนด์สำหรับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์

    ดะนีดินมีเศรษฐกิจที่หลากหลายซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต การตีพิมพ์ และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี รวมถึงการศึกษา การวิจัย และการท่องเที่ยว กิจกรรมสำคัญของเมืองโคจรรอบการศึกษาโดยดะนีดินเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยโอทาโก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของนิวซีแลนด์ (ก่อตั้งขึ้นในปี 1869) และโอทาโกโพลีเทคนิค โดยมีสัดส่วนของนักเรียนต่อจำนวนประชากรเมืองอยู่ในระดับที่สูง (21.6% ของประชากรในเมืองนี้มีอายุระหว่าง 15 และ 24 ปี) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของนิวซีแลนด์ซึ่งอยู่ที่ 14.2%

    ในปี 2014 ดะนีดินถูกกำหนดให้เป็นเมืองแห่งวรรณกรรมของยูเนสโก

    ดะนีดินได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความเป็นยุโรปมากที่สุดในนิวซีแลนด์ ถนนใจกลางเมืองที่ตัดเป็นรูปแปดเหลี่ยม The Octagon เชื่อมดะนีดินเหนือใต้ ยังคงมีสิ่งปลูกสร้างศิลปะโกธิคให้เห็นอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ ที่ทำการสภาเมือง ที่ทำการศาล หรือสถานีรถไฟ ดะนีดินยังมีถนนที่ชันที่สุดในโลก คือ Baldwin Street ซึ่งได้รับการรับรองจาก Guinness ฺBook of Records ว่าชันจริง ในอัตราส่วน 1:2.9 สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออีกแห่งที่ผู้มาเยือนดะนีดินต้องไม่พลาดไปเยี่ยมชม คือปราสาทแห่งเดียวของนิวซีแลนด์ Larnach Castle ซึ่งมีตำนานรักในรอยแค้น ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดงานต่างๆ และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้คนเข้าชม

    ดะนีดินยังมีชายฝั่งทะเลที่สวยงามสไตล์หน้าผาสูง บนชะง่อนผาเป็นที่อยู่อาศัยและรังของนกอัลบาทรอส นกทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ชายหาดของดะนีดินมีเพนกวิน และแมวน้ำอยู่ประปราย ที่ปลายสุดของ Portobello Peninsula เป็นศูนย์ชีววิทยาทางทะเล Marine Laboratory ของมหาวิทยาลัยโอทาโก้ ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพทุกแขนง

    ดะนีดินมีโรงเรียนมัธยมชั้นดี 12 แห่งทั้งแบบประจำและไปกลับ มีทั้งที่เป็นโรงเรียนรัฐและกึ่งเอกชน เป็นเมืองที่ขนาดพอดีๆ ไม่เล็กไม่ใหญ่ นักเรียนรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยและไปไหนๆ ง่ายด้วยระบบรถประจำทางที่ไม่ซับซ้อน โรงเรียนหลายแห่งอยู่ในระยะทางที่เดินลงเมืองได้ (โรงเรียนส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเขา) ที่มหาวิทยาลัยมีศูนย์ภาษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ ชื่อว่า The University of Otago Language Centre and Foundation Year (UOLCFY)

    อากาศเมืองดะนีดินแห้้งแต่อบอุ่น ฝนตกน้อย และค่อนข้างหนาวในฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยนในฤดูหนาวพอๆ กับเมืองควีนส์ทาวน์ คือประมาณ 8 องศาในตอนกลางวัน และประมาณ -1 ถึง 1 องศาในตอนกลางคืน ในเมืองมีหิมะตกปีละ 1-2 วัน แต่เนินเขารอบๆเมืองมีหิมะตกให้เห็นอยู่ทุกปี

    ประชากรดะนีดินเป็นชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายยุโรปสูงถึง 88% เป็นชาวเมารีประมาณ 7% คนเอเชีย 12% ที่เหลือเป็นเชื้อสายอื่นๆ เช่นชาวเกาะแปซิฟิคจากประเทศเพื่อนบ้าน, ชาวอาหรับ/ลาติน/แอฟริกัน และกลุ่มที่ระบุว่าตนเป็น New Zealander ที่ไม่ต้องการระบุเชื้อชาติของตนอีกจำนวนหนึ่ง

    ดะนีดินเหมาะกับนักเรียนที่ชอบกีฬา (มีสนามกีฬาขนาดใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป) หรือชอบร้องเพลงประสานเสียง (มีวงขับร้องประสานเสียงนับได้หลายสิบวง) หรือชอบดนตรี (มีวงซิมโฟนีออเคสตร้าประจำเมืองถึงสามวงไม่นับที่อยู่ตามโรงเรียนต่างๆ แทบทุกโรงเรียน, มี Brass Band สามวง และแถมมี Pipe Band สำหรับคนชอบออร์แกน) นอกจากนั้นยังมีสถานที่บันทึกเสียงและผลิตเพลง มีวงดนตรีสากลหลายวงสำหรับคนที่ชอบแนวเพลงประเภทต่าง ๆ

    ดะนีดินมีทีมกีฬาของตัวเองเป็นสิบ มีสนามและสเตเดี้ยมเป็นโหล และมีโรงละคร โรงภาพยนตร์ใหญ่น้อยทุกรูปแบบ ทางด้านสาธารณสุข ดะนีดินมีโรงพยาบาล 3 แห่ง ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน คณะแพทย์ของ ม.โอทาโก้เป็นส่วนหนึ่งของ Dunedin Public Hospital

    ดะนีดินได้รับเลือกให้เป็น Gigatown แห่งแรกของนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2017 ทำให้เมืองนี้มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 1 Gigabit per second ใช้เป็นแห่งแรกในนิวซีแลนด์ (เร็วที่สุดในซีกโลกใต้)

  • เนลสันและมาร์ลโบโร่ (เบลนั่ม) เหนือสุดของเกาะใต้ แหล่งปลูกแอปเปิ้ล ไร่องุ่นทำไวน์ หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ และป่าสนเขียวขจี โดยไวน์จากแคว้นนี้เป็นไวน์ที่เคยได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เนลสัน/มาร์ลโบโร่เป็นที่ตั้งของสถาบัน NMIT แวดล้อมด้วยอุทยานแห่งชาติถึง 3 แห่ง หนึ่งในสามเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล จึงมีบรรยากาศคล้ายกระบี่ พังงาของไทย เมืองเนลสันเป็นเมืองที่มีประชากรถาวรอพยพมาจากเยอรมนีอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในนิวซีแลนด์ ในเมืองมีสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากเนเธอร์แลนด์ ตามที่มาของผู้ตั้งถิ่นฐานรุ่นแรก ๆ ของเมืองนี้

  • "เนเปียร์" เมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันออกของนิวซีแลนด์ เป็นเมืองแฝดคู่กับเมือง Hastings และ Havelock North แห่งแคว้น Hawkes Bay มีชื่อเสียงในการทำไร่องุ่น และสวนแอปเปิ้ล ประมาณ 55% ของผลิตผลแอปเปิ้ลของนิวซีแลนด์มาจากแคว้นนี้ เนเปียร์มีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ชายหาดที่สวยงาม และสถาปัตยกรรมรูปแบบ Art Deco อันเป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ตั้งของสถาบันเทคโนโลยี EIT และโรงเรียนมัธยมชั้นดีหลายแห่ง หลักสูตรที่น่าสนใจในพื้นที่ : หลักสูตรทำไวน์

  • "นอร์ธชอร์" ทอดตัวยาวเหยียดถัดจาก Auckland Harbour Bridge ให้ผู้คนได้ดื่มด่ำธรรมชาติในเมืองใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์โดยไม่ต้องเดินทางไกล เป็นย่านที่อยู่อาศัยระดับกลางบนของเมือง ประชากร North Shore ประกอบด้วยชาวยุโรปประมาณ 65% ชาวเอเชียประมาณ 20%

    นอร์ธชอร์โดดเด่นด้วยโรงเรียนมัธยมชั้นดีเกือบยี่สิบแห่ง ที่กระจายตัวอยู่ในย่าน Northcote, Glenfield, Birkenhead, Devonport, Takapuna, Milford, Forest Hill ไปจนถึง Browns Bay, Albany และ Long Bay นักเรียนนักศึกษานานาชาติที่มาเรียนที่นอร์ธชอร์ได้ใช้ประโยชน์ของการอยู่ในโอ๊คแลนด์ แต่มีสภาพแวดล้อมในวันเรียนเหมือนหรือใกล้เคียงกับเมืองขนาดรองอื่นๆ ของนิวซีแลนด์ มี work-life balance ที่ดี เพราะใกล้ชายหาดสวยๆ สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ ลานสกีในร่ม และศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง

    ประมาณกันว่าในนอร์ธชอร์มีธุรกิจอยู่ 22,000 แห่ง ซึ่งก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (National GDP) มากถึง 6% ของนิวซีแลนด์ โดยมี Albany เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน

    Albany ยังเป็นที่ตั้งของ North Harbour Stadium, Massey University และ Auckland University of Technology (AUT) Albany Campus

  • พาลเมอร์สตัน นอร์ธ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเวลลิงตัน เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของแคว้น Manawatu และเป็นศูนย์กลางสำหรับสถาบันการศึกษาและการวิจัย เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Massey ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านการบิน และสัตวแพทยศาสตร์ , สถาบันเทคโนโลยี the Universal College of Learning (UCOL), and International Pacific (IPU) และโรงเรียนมัธยมน้อยใหญ่ทั้งประจำและไปกลับ

    ประมาณกันว่าแต่ละปีมีนักเรียนต่างชาติจำนวนกว่า 3,000 คน มาเรียนที่เมืองนี้ ในจำนวนนี้ 30% อายุระหว่าง 15-30 ปี พาลเมอร์สตัน นอร์ธ มีชมรมกีฬาและสโมสรต่างๆ หลากหลายประเภทให้นักเรียนเข้าร่วม แต่ละปีจะมีการจัดงานสำหรับนักเรียน เช่น Tertiary Knock Out นักเรียนเข้าใหม่จะได้รับการต้อนรับจากนายกเทศมนตรี (Mayoral Welcome) เมืองนี้จึงเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับนักเรียนมาก

    มานาวาตูได้ชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่มีค่าครองชีพระดับกลางๆไม่สูง จึงมีที่พักสำหรับนักเรียนให้เลือกหลายแบบในราคาที่ประหยัดกว่าเมืองใหญ่

    เครดิต VDO : https://www.manawatunz.co.nz

  • นิวพลีมัธ (Māori: Ngāmotu) เป็นเมืองสำคัญของภูมิภาค Taranaki บนชายฝั่งตะวันตกของเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ ตั้งชื่อตามเมืองพลีมัธของอังกฤษ นิวพลีมัธมีประชากร 74,184 คนหรือประมาณสองในสามของประชากรทั้งหมดของภูมิภาคทารานากิและคิดเป็น 1.7 % ของประชากรนิวซีแลนด์

    เมืองนี้เป็นศูนย์บริการสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค (ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มโคนม) รวมถึงการสำรวจและผลิตน้ำมันก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคซึ่งเป็นที่ตั้งของธนาคาร TSB (เดิมคือ Taranaki Savings Bank) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์

    สถานที่สำคัญของเมืองนี้ อาทิ สวนพฤกษศาสตร์ , Len Lye Center และหอศิลป์ที่ได้รับรางวัล ชายฝั่งทางเดินเลียบชายฝั่งทะเล Tasman, การออกแบบ Len Lye สูง 45 เมตร (148 ฟุต) งานศิลปะที่รู้จักกันในชื่อ Wind Wand, Paritutu Rock, ทิวทัศน์งดงามของ Mount Taranaki - หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งคือ Mount Egmont (ภูเขาไฟฟูจิแห่งนิวซีแลนด์) และ The Festival of Lights ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูร้อน (ธันวาคมหรือมกราคมของทุกปี)

    ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือนนิวพลีมัธสามารถเล่นสโนว์บอร์ด สกี สกีน้ำ และเล่นกระดานโต้คลื่นในวันเดียวกัน สโลแกนของเมืองคือ "Like no Other - ไม่เหมือนใคร"

  • "Whanganui" หรือ "Wanganui" " (วังกานุย) ประชากร 49,000 คน เป็นเมืองรองของแคว้น Manawatu ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวังกานุยบนชายฝั่งตะวันตกของเกาะเหนือ ห่างจากเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 200 ก.ม. และห่างจาก Palmerston North ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินในประเทศของละแวกนี้ ประมาณ 75 ก.ม.

    วังกานุยเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีชื่อเสียงในการต่อเรือยนต์ทุกขนาดตั้งแต่ลำเล็กๆสำหรับใช้ส่วนตัวไปจนถึงเรือเฟอรี่ขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งปลูกลูกแพร์ที่สำคัญของประเทศ อากาศอุ่นสบายตลอดปี ฤดูหนาวอาจมีน้ำค้างแข็งเป็นบางวัน

    วังกานุยเป็นที่ตั้งของ Wanganui Collegiate School ใจกลางเมืองวังกานุย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำสหศึกษาที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันมีอายุกว่า 160 ปี โรงเรียนแห่งนี้เป็นที่ที่เจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ดแห่งอังกฤษ เสด็จมาฝึกงานเป็นติวเตอร์หอ (House Tutor, Junior Master) ในช่วง Gap Year ของพระองค์ เป็นเวลาสองเทอม (5 เดือน) เมื่อปี 1982 และ 1983

    วังกานุยมีสถาบันอุดมศึกษา คือ UCOL (Universal College of Learning) UCOL เป็นสถาบันเทคโนโลยีของรัฐที่มีสาขาให้เลือกเรียนกว่า 100 สาขาวิชา เปิดสอนสาขาวิชาชีพตั้งแต่ระดับ Certificate ถึงปริญญาโท

  • Northland และ Bay of Islands หรือที่ชาวกีวีมักเรียกว่า The Winterless North มีชื่อเสียงในเรื่องกิจกรรมกลางแจ้ง อากาศอบอุ่นสบายตลอดปี อาหารทะเล ชายหาดแสนงาม การเล่นเรือใบ และกิจกรรมทางทะเลทุกชนิด นักเรียนจะมีเวลาสำรวจพื้นที่กลางแจ้ง กีฬา และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ห่างไกลจากถนนที่แออัด เสียง และความกดดันของการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่

    Whangarei ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดทางเหนือของโอ๊คแลนด์ มีคาเฟ่และร้านอาหารชั้นเยี่ยมรวมทั้งแหล่งช้อปปิ้ง เป็นที่จัดแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ การแข่งขันกีฬาและงานเทศกาล ส่วน Kerikeri เป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ สวนผลไม้ และร้านช็อคโกแลตทำมือ

    ทางเหนือของวังกาเรไม่มีสัญญาณไฟจราจรหรือตึกสูง การเดินทางประจำวันของคุณจะใช้เวลาไม่กี่นาทีแทนที่จะเป็นชั่วโมง คุณจึงสามารถใช้ชีวิตประจำวันที่ปราศจากความกดดันเรื่องเวลา ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด สงบ สวยงาม และอากาศอบอุ่น

    เครดิต VDO จาก Northland Tourism | www.northlandnz.com

  • Southland (Māori: Murihiku) เป็นภูมิภาคใต้สุดของนิวซีแลนด์ ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะใต้และเกาะ Stewart/Rakiura ซึ่งรวมถึงเขตเซาท์แลนด์ เขตกอร์และเมืองอินเวอร์คาร์กิลล์

    เศรษฐกิจของเซาท์แลนด์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเกษตร การท่องเที่ยว การทำประมง ป่าไม้ เหมืองถ่านหินและไฟฟ้าพลังงานน้ำ

    เซาท์แลนด์มีพื้นที่ 28,681 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรเพียง 99,100 คน ทำให้มันเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรเบาบางที่สุดของนิวซีแลนด์ ภูมิภาคนี้เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติสองแห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ Fiordland และอุทยานแห่งชาติ Rakiura ซึ่งครอบคลุม 7,860 ตารางกิโลเมตร ทำให้พวกมันเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์

    เซาท์แลนด์มีน้ำตกที่สูงที่สุดของนิวซีแลนด์ คือน้ำตกบราวน์ และยังมีทะเลสาบ Hauroko ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ลึกที่สุดในประเทศ ยอดเขาที่สูงที่สุดในเซาท์แลนด์คือ Mount Tutoko ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา Darran ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดใน Southland คือ Lake Te Anau ตามด้วย Lake Manapouri ซึ่งทั้งสองอยู่ในเขตของ Fiordland National Park ภูมิประเทศของ Fiordland โดดเด่นด้วยภูเขาฟยอร์ดและทะเลสาบน้ำแข็งที่สลักขึ้นโดย glaciations ในช่วงยุคน้ำแข็งสุดท้ายระหว่าง 75,000 ถึง 15,000 ปีที่ผ่านมา

    สภาพอากาศในเซาท์แลนด์นั้นเย็นกว่าและชื้นกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของนิวซีแลนด์เนื่องจากอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ภูมิภาคชายฝั่งมีฤดูร้อนและฤดูหนาวที่เย็นสบาย อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิต่ำสุดที่บันทึกได้ของ Southland คือ −18 ° C ในเดือนกรกฎาคม 1946 (พ.ศ.2489)

    ประมาณ 90% ของประชากร Southland มีเชื้อสายยุโรป สัดส่วนที่ค่อนข้างสูงของแรงงานข้ามชาติในศตวรรษที่สิบเก้ามาจากสกอตแลนด์และไอร์แลนด์ ส่วนในปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติจากฟิลิปปินส์ และอินเดีย

  • Timaru (ทิมารู) เป็นเมืองท่าบนชายฝั่งทะเลริมมหาสมุทรแปซิฟิค ในแคว้นแคนเทอเบอรี่ของนิวซีแลนด์ เมืองขนาดกลางที่มีประชากรประมาณ 30,000 คนแห่งนี้ ตั้งอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1 (SH1) ระหว่างไคร้สเชิร์ชกับดะนีดิน โดยอยู่ห่างจากเมืองไครสต์เชิร์ชไปทางใต้ 157 กิโลเมตร และอยู่ก่อนถึงดะนีดินประมาณ 200 กิโลเมตร Timaru เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของ South Canterbury ซึ่งประกอบด้วยเมือง Geraldine, Pleasant Point และ Temuka

    ชายหาด Caroline Bay เป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยมซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับใจกลางเมือง โดยมี SH8 เชื่อมทิมารูเข้ากับเมืองท่องเที่ยวใจกลางเกาะใต้ เช่น Fairlie, Twizel, ทะเลสาบ Tekapo, Aoraki / Mount Cook และ Queenstown มีบริการรถโค้ชและรถมินิบัสออกจากศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวทุกวันซึ่งให้บริการจองและบริการด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ไปยังไครสต์เชิร์ช ดะนีดิน อินเวอร์คาร์กิลล์ ควีนส์ทาวน์ และแม็คเค็นซี่คันทรี่

    Timaru มีภูมิอากาศค่อนข้างเย็นพอ ๆ กับเมืองใกล้เคียงอย่าง Ashburton และ Christchurch อุณหภูมิอบอุ่นในฤดูร้อนและเย็นในฤดูหนาว มีฝนอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีโดยมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อหิมะตกลงมา

    Timaru เป็นท่าเรือประมงที่ใหญ่เป็นอันดับสองในนิวซีแลนด์ รองจากเนลสัน

  • Rotorua (โรโตรัว) ในแคว้น Bay of Plenty ตั้งอยู่ในใจกลางของเกาะเหนือ 60 กิโลเมตรทางใต้ของ Tauranga, 80 ก.ม. ทางเหนือของเทาโป, 105 ก.ม. ทางตะวันออกของแฮมิลตัน และ 230 ก.ม. ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ คือโอ๊คแลนด์

    โรโตรัวมีประชากรทั้งหมดประมาณ 72,500 คน เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งที่เป็นชาวนิวซีแลนด์และจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเขตนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในกิจกรรมความร้อนใต้พิภพและมีน้ำพุร้อนและบ่อโคลนเดือดที่โดดเด่นหลายแห่ง เป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมชาวพื้นเมืองตามแบบแบบดั้งเดิมของชนเผ่าเมารี และยังมีกิจกรรมผจญภัยและท้าทายประลองความกล้าหลากหลายรูปแบบให้เลือกทำ มีโชว์ตัดขนแกะที่ดีที่สุดในนิวซีแลนด์ มีที่พักหลากหลายรูปแบบที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทุกระดับงบประมาณ และมีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ (Eco-tourism) ที่ราคาประหยัด เข้าถึงง่าย และได้รับการดูแลให้มีความปลอดภัยและทันสมัยอยู่เสมอ

    โรโตรัวยังอยู่ไม่ไกลจาก Matamata ในแคว้น Waikato ที่เป็นสตูดิโอธรรมชาติของการถ่ายทำภาพยนตร์ไตรภาค The Hobbit

    ในด้านการศึกษา โรโตรัวเป็นที่ตั้งของสถาบันเทคโนโลยี Toi Ohomai สถาบันภาษา Category 1 และโรงเรียนมัธยมชายล้วนที่มีชื่อเสียง

  • Queenstown (ควีนส์ทาวน์) สมญานาม "The Adventure Capital of the World" เป็น Resort Town มีลานสกีระดับโลกหลายแห่ง เป็นเมืองหลวงแห่งกิจกรรมผจญภัยทุกรูปแบบที่นิวซีแลนด์มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเจ็ทโบ้ต ลูจ หรือบันจี้จั๊มพ์ ซึ่งจุดโดดบันจี้ที่คาวาราวบริดจ์ในควีนส์ทาวน์ เป็น Commercial Bungy แห่งแรกของโลก ก่อตั้งโดย A J Hackett ชาวเมืองโอ๊คแลนด์ ซึ่งสร้างชื่อเสียงนอกประเทศด้วยการติดตั้งจุดโดดบันจี้จัมพ์ที่หอไอเฟล ในปี 1987 ก่อนจะกลับมาทำกิจการกระโดดบันจี้จั๊มพ์ของตัวเองเป็นบันจี้เพื่อการค้าแห่งแรกของโลกที่ควีนส์ทาวน์ ในปี 1988

    ควีนส์ทาวน์ตั้งอยู่ในแคว้นโอทาโก้ ประมาณ 80 ก.ม. จากชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะใต้ ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นภูเขาที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 310 - 2,300 เมตร และมีทะเลสาบน้อยใหญ่อยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นผลจากการละลายของหิมะและธารน้ำแข็ง น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติในภูมิภาคนี้ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำสายเล็กสายน้อย หรือทะเลสาบต่างๆ จึงเป็นสีฟ้าเข้มไปจนถึงสีเขียวมรกต ชายฝั่งทะเลแถบนี้มีลักษณะเป็นฟยอร์ดซาวนด์คล้ายกับในนอรเวย์ ที่ซึ่งน้ำทะเลกัดเซาะภูเขาน้อยใหญ่จนก่อเกิดเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่มีความสลับซับซ้อน มีน้ำตก มีปลาโลมา เพนกวิน แมวน้ำ และสิงโตทะเลเป็นสัตว์ประจำถิ่น

    นอกจากกิจกรรมผจญภัยทุกรูปแบบที่สามารถเล่นได้ตลอดปี ควีนส์ทาวน์ยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องกีฬาฤดูหนาวอย่างสกีและสโนว์บอร์ด รอบๆเมืองมีลานสกีที่นักท่องเที่ยวสามารถไปเล่นสกีได้ง่ายหลายแห่งทั้งแบบสกีทั่วไปและแบบ Cross Country (Nordic) สกีฟิลด์ที่ได้รับความนิยมอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 25-30 นาที (The Remarkables และ Coronet Peak) หรืออย่างไกลประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่ง ช.ม.ครึ่งใน Wanaka เมืองใกล้เคียง (Cardrona, Treble Cone และ Snow Farm)

    อากาศที่แห้งแต่อุ่นสบายของควีนส์ทาวน์และแสงแดดที่พอเหมาะตลอดปี ทำให้เขตนี้เป็นแหล่งปลูกองุ่นสำหรับทำไวน์ และมีไร่ไวน์คุณภาพเยี่ยมหลายแห่ง แอร์โร่ว์ทาวน์ เมืองรองของควีนส์ทาวน์ ยังเป็นที่ที่มีใบไม้เปลี่ยนสีตระการตาที่สุดในนิวซีแลนด์ ตัวเมืองแอร์โร่ว์ทาวน์มีหน้าตาย้อนยุคเหมือนยุคตื่นทองในศตวรรษที่ 18

  • Wanaka (วานาก้า) อยู่ถัดจากควีนส์ทาวน์ขึ้นไปทางตอนเหนือราว 1 ชั่วโมง (67 กิโลเมตร) เป็นเมืองเล็กน่ารักที่แวดล้อมด้วยภูเขาสูง เมืองตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งทะเลสาบชื่อเดียวกันที่ความสูง 290 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล วานาก้าเป็นรีสอร์ททาวน์ที่เด่นทางด้านกีฬาทั้งกีฬาฤดูร้อน (ปีนเขา, คายัค, กีฬาทางน้ำทุกชนิด) และกีฬาฤดูหนาวอย่างสกีและสโนว์บอร์ด โดยมีลานสกีถึงสามแห่ง คือ Cardrona, Treble Cone และ Snow Farm

    วานาก้าเป็นเมืองที่อยู่แนบชิดติดกับอุทยานแห่งชาติ Mount Aspiring มีประชากรถาวรราว 9,000 คน อากาศของเมืองนี้จะเย็นกว่าที่ควีนส์ทาวน์ ในหน้าหนาวมีหิมะตกบ่อยๆ และมีอุณหภูมิเลขตัวเดียว
เพิ่มเพื่อน
Visitors: 154,536