ประเภทที่พัก

สถาบันภาษาที่นักเรียนสมัครเข้าเรียน จะเป็นธุระจัดหาที่พัก ตามชนิดของที่พักที่นักเรียนระบุในใบสมัคร โดยประเภทของที่พักที่สถาบันจะจัดให้หรือมีให้เลือก จะขึ้นอยู่กับอายุของนักเรียนเป็นสำคัญ

นักเรียนอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องพักกับครอบครัวชาวนิวซีแลนด์แบบที่เรียกว่า “โฮมสเตย์” เท่านั้น ไม่มีออพชั่นให้พักที่พักแบบอื่น เนื่องจากยังมีสถานภาพเป็น “ผู้เยาว์” ดังนั้นถึงแม้นักเรียนจะอายุเกิน 13 ปี ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้มาใช้ชีวิตในนิวซีแลนด์ได้โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องไปอยู่เฝ้าแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถไปใช้ชีวิตตามลำพังได้ และจะต้องมีผู้ใหญ่ดูแลการกินการอยู่การใช้ชีวิต

ผู้เรียนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีอิสระที่จะเลือกพักกับโฮมสเตย์ หรืออยู่หอพักของสถาบัน หรือเช่าบ้าน/ห้องเช่า โดยอาจเช่าเดี่ยวหรือแชร์กับเพื่อนร่วมสถาบัน/ต่างสถาบันก็ได้  บางสถาบันอนุโลมให้อายุ 17 ปีสามารถเข้าพักใน Student Residence ได้ 

 

 

การพักอาศัยกับโฮสต์แฟมิลี่ และมาตรฐานของโฮมสเตย์
สถาบันภาษาทุกแห่งที่รับนักเรียนต่างชาติ ทราบดีว่าชีวิตนักเรียนในนิวซีแลนด์ จะสุขหรือทุกข์ ขึ้นอยู่กับโฮมสเตย์เป็นหลัก ทุกสถาบันจึงให้ความสำคัญกับการคัดเลือกบ้านที่เหมาะสมเข้ามาเป็นโฮมสเตย์ของสถาบัน ซึ่งกฎ Code of Practice ว่าด้วยการดูแลความเป็นอยู่ของนักเรียนนานาชาติ ระบุว่าครอบครัวที่สมัครเป็นโฮมสเตย์จะต้องผ่านการสัมภาษณ์และตรวจสอบบ้าน และเจ้าของบ้านหรือบุตรที่มีอายุเกิน 18 ปีขึ้นไปที่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้าน จะต้องผ่านการตรวจประวัติอาชญากรรมจากกรมตำรวจของนิวซีแลนด์

โฮมสเตย์ทุกหลังจะต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางสถาบัน ว่าจะคงไว้ซึ่งมาตรฐานตามที่สถาบันกำหนด ยกตัวอย่างเช่น โฮมสเตย์จะต้องจัดห้องนอนที่สะดวกสบายและอุ่นเพียงพอให้กับนักเรียน และปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว

โฮมสเตย์หนึ่งหลังอาจทำสัญญากับสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ปัจจุบันมีโฮมสเตย์จำนวนมากที่มีห้องนอนเหลือเฟือในบ้านและทำให้สามารถรับนักเรียนอยู่รวมกันในบ้านหลังเดียวกันได้หลายคน โฮมสเตย์หลายหลังเป็น Senior citizen ที่ลูกๆ โตและแยกบ้านออกไปหมดแล้ว เหลือพ่อแม่สองคนอยู่ในบ้านขนาด 5 ห้องนอน กฎทั่วไป (Rule of thumb) สำหรับกรณีนี้ คือโฮสต์จะรับนักเรียนกี่คนก็ได้ ตราบเท่าที่นักเรียนทุกคนมีห้องนอนเป็นของตนเอง และโฮสต์ไม่ควรรับนักเรียนจากประเทศเดียวกันที่พูดภาษาเดียวกันอยู่ในบ้านหลังเดียวกันในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้นักเรียนมีโอกาสพูดภาษาอังกฤษน้อยลง


การรักษามาตรฐานของโฮมสเตย์และการรับฟังความเห็นของนักเรียน
ปกติทางสถาบันภาษาจะกำหนดตารางเยี่ยมบ้านโฮมสเตย์ปีละหนึ่งหรือสองครั้ง เพื่อดูให้เห็นกับตาว่าโฮมสเตย์ที่สถาบันใช้อยู่นั้น ยังคงมีสภาพเหมาะสมที่จะเป็นโฮมสเตย์ต่อไปหรือไม่ สถาบันทุกแห่งจะเชิญนักเรียนมาสัมภาษณ์หรือให้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับโฮมสเตย์หลังจากพักที่บ้านนั้นผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ว่านักเรียนมีความเห็นต่อโฮมสเตย์ที่พักอาศัยอย่างไร ซึ่งหากนักเรียนมีปัญหาหรืออึดอัดใจในเรื่องใด ก็สามารถแจ้งโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ดูแลโฮมสเตย์ของทางโรงเรียน หรือแจ้งมาทางเอเจนซี่ให้ทำการประสานงานเพื่อช่วยแก้ปัญหาโฮมสเตย์ให้กับนักเรียน

ข้อดีของการอยู่โฮมสเตย์

1. โฮมสเตย์จะเป็นเหมือนผู้ดูแลส่วนตัวของนักเรียน ตั้งแต่วันที่นักเรียนเดินทางมาถึง ไปรับที่สนามบิน คอยดูแลไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ดูให้อยู่สบาย ให้กินได้ ให้นอนหลับ สอนวิธีเดินทางในเมืองนั้นให้กับนักเรียน สอนวิธีใช้อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ ฯลฯ


2. นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นชีวิตที่มีระเบียบวินัย เรียบง่าย แต่ไม่เงียบเหงา


3. ได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษกับแฟมิลี่ ได้ใช้เวลานอกห้องเรียนกับเจ้าของภาษา เช่น นั่งดูทีวีและถกประเด็นต่างๆที่ดูทางทีวีร่วมกัน เล่นปริศนาอักษรไขว้กัน เล่นเกมต่างๆหรือเล่นกีฬาด้วยกัน โฮสต์หลายบ้านพานักเรียนไปว่ายน้ำ ไปหัดเรียนเต้นบอลรูม สอนนักเรียนทำอาหาร ทำขนมแบบนิวซีแลนด์ (ได้ทักษะเพิ่ม)


4. ไม่ต้องมีภาระซื้อของเข้าบ้าน ไม่ต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัว อุปกรณ์ล้างห้องน้ำ, เครื่องนอน ฯลฯ


5. นักเรียนจะมีที่ทางเป็นของตนเอง มีห้องนอนส่วนตัว เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ที่คนในบ้านจะให้ความเคารพไม่เข้ามายุ่ง


6. นอกจากใช้ชีวิตด้วยกันแบบปกติธรรมดาแล้ว ครอบครัวส่วนใหญ่จะพานักเรียนไปร่วมงานสังสรรค์ของเครือญาติ หรือพาไปทำกิจกรรมร่วมกันในวันว่าง เวลามีเทศกาลหรือวันสำคัญของคนในครอบครัว นักเรียนก็จะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนั้น ทำให้มีเพื่อนไม่เบื่อไม่เหงา มีคนคอยดูแลและหาอะไรให้ทำอยู่ตลอดเวลา สร้างสายสัมพันธ์สำหรับอนาคต (เวลากลับมาเที่ยวก็มีครอบครัวให้กลับไปหา) มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ และอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้รู้จักคนในนิวซีแลนด์เพิ่มมากขึ้น

 

ค่าโฮมสเตย์รวมสิ่งต่อไปนี้แล้ว

  • ห้องนอนส่วนตัว เป็นสัดส่วนไม่ต้องแชร์กับใคร
  • ห้องนอนจะมีเครื่องใช้จำเป็น ตู้ โต๊ะทำงานสำหรับทำการบ้านอ่านหนังสือ เครื่องนอนครบชุด ผ้าเช็ดตัว อุปกรณ์ทำความร้อนให้ความอบอุ่นและแสงสว่าง บางบ้านมีทีวีส่วนตัวหรือโทรศัพท์บ้านแถมในห้องนอนให้ด้วย
  • ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์บ้าน (โทรจากเบอร์บ้านเข้าเบอร์บ้านในเมืองเดียวกัน เป็นบริการจากรัฐ โทร.ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย)
  • ค่าอาหาร 2 หรือ 3 มื้อต่อวัน ขึ้นอยู่กับสถาบันภาษาจะกำหนดในตารางค่าใช้จ่าย
  • บริการซักรีดเสื้อผ้า โดยโฮสต์จะเป็นคนทำให้
   

 

อัตราค่าโฮมสเตย์     ค่าใช้จ่ายในการพักอาศัยกับโฮมสเตย์ในแต่ละเมืองแตกต่างกันออกไป อัตราเฉลี่ยปี 2016-2017 อยู่ที่ $270 ต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจถูกหรือแพงกว่านี้ได้เล็กน้อยขึ้นอยู่กับท่านไปเมืองไหน โดยปกติค่าโฮมสเตย์ในเมืองใหญ่จะแพงกว่าเมืองเล็กอยู่ $20-$40 ต่อสัปดาห์ เนื่องจากขนาดของเมืองและเศรษฐกิจของแต่ละเมืองมีผลกระทบต่อค่าครองชีพ      

การชำระค่าโฮมสเตย์  สำหรับค่าโฮมสเตย์รายสัปดาห์นี้ เป็นมารยาทว่านักเรียนจะไม่ชำระตรงกับโฮมสเตย์ แต่จะชำระผ่านทางสถาบันพร้อมกับค่าเล่าเรียนก่อนทำวีซ่า โดยสถาบันมีภาระผูกพันที่จะต้องให้ความดูแลเพื่อให้นักเรียนได้รับความสะดวกสบายในบ้านโฮมสเตย์ที่ตนจัดหา และจะต้องรับผิดชอบเปลี่ยนโฮมสเตย์ให้ ในกรณีนักเรียนไปอยู่แล้วพบว่าโฮมสเตย์มีคุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับได้  

หากนักเรียนต้องการย้ายออกจากโฮมสเตย์ ก่อนครบกำหนดเวลาที่ชำระเงินไว้ สามารถขอทำคืนเงินค่าโฮมสเตย์ที่ยังไม่ใช้ได้ โดยมีกฎว่าต้องบอกล่วงหน้า 2 สัปดาห์ เพื่อที่ทางโรงเรียนจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ 2 สัปดาห์ (โทษฐานไม่แจ้งล่วงหน้า) ให้กับโฮมสเตย์  หลังจากนั้นค่าโฮมสเตย์ที่ชำระกับสถาบันไปแล้วก่อนหน้า สามารถขอทำคืนได้เต็มจำนวนที่เหลือ เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าที่พักประเภทอื่นๆ  หรือสามารถขอให้สถาบันนำไปชำระให้โฮมสเตย์หลังถัดไปก็ได้ 

 
การเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลัย (University Residence, Hall of Residence) 
สำหรับนักศึกษาที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และลงทะเบียนเรียนกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันภาษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ  
 

 

   
เป็นที่พักประเภทที่มีจำนวนจำกัดและต้องแจ้งความจำนงล่วงหน้า นักศึกษาอาจต้องลงชื่อรอ (Waitlist) เป็นเวลาหลายเดือน ระหว่างที่ยังไม่ได้อาจต้องไปอยู่โฮมสเตย์ก่อน สงวนสิทธิ์เฉพาะสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยและนักเรียนภาษาระยะยาวที่ลงทะเบียนเรียนกับสถาบันภาษาของมหาวิทยาลัย 6 เดือนขึ้นไปเท่านั้น  ส่วนใหญ่จะมีที่ตั้งอยู่รอบๆ แคมปัสของมหาวิทยาลัย ผู้เข้าพักในหอพักจะเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีสถาบันอื่นมาพักปะปน หอส่วนใหญ่จะเป็นหอรวมชาย-หญิง บางแห่งอาจมี ชั้นพิเศษ (special floor) ที่มีห้องพักของนักศึกษาหญิงโดยเฉพาะ
 
      หอพักของมหาวิทยาลัยโดยมากจะมีและไม่มีสิ่งต่อไปนี้ให้
  •  มี ห้องนอนส่วนตัวพร้อมเครื่องนอนพื้นฐาน (ฟูก,หมอน,ไส้ผ้านวม) 
  •  ไม่มี เครื่องนอนอื่นๆ  นักเรียนต้องนำผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ปลอกผ้านวม ผ้าเช็ดตัวไปเอง หรือทำเรื่องขอเช่าจากหอ  
  •  มี พื้นที่ส่วนกลางในยูนิต โดยนักเรียนแชร์ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำกับนักเรียนอีก 3-4  คนที่อยู่ในอพาร์ทเม้นท์เดียวกัน
  •  ไม่มี  บริการซักรีดเสื้อผ้า นักเรียนต้องซักรีดเสื้อผ้าเอง
  •  มี เครื่องซักผ้าของตึกให้ใช้ เป็นระบบหยอดเหรียญ ต้องนำผงซักฟอกไปเอง
  •  มีหรือไม่มี อาหาร หอบางแห่งมี option เฉพาะอาหารเย็น บางแห่งมีให้ 3 มื้อ    
  •  ไม่มี บริการทำความสะอาดห้องพัก นักเรียนต้องทำความสะอาดห้องนอนเอง และแบ่งเวร  กันทำพื้นที่ส่วนกลางในยูนิตของตน
  •  มีหรือไม่มี Bond เงินประกันที่ต้องชำระก่อนเข้าพัก 
  •  มี Wireless Internet
  •  มีหรือไม่มี Facilities อื่นๆ เช่น ห้องออกกำลังกาย เกมส์รูม สระว่ายน้ำ ห้องสมุด
  •  มีหรือไม่มี Tutor ประจำ , กิจกรรมในหอ

 

อพาร์ทเม้นท์หรือหอพักเอกชน (Student Apartment, Student Accommodation) สำหรับนักศึกษาที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป  ซึ่งอาจคละ (มาจากหลายสถาบัน) หรือเรียนสถาบันเดียวกันกับนักศึกษาก็ได้  

   
   
หอพักหรืออพาร์ทเม้นท์ในลักษณะนี้จะมีเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ เช่น Auckland, Wellington โดยมากอยู่ใจกลางเมืองหรือใกล้สถาบันการศึกษาต่างๆ นักศึกษาสามารถมาจากหลายสถาบัน ห้องพักมีลักษณะเป็นอพาร์ทเม้นท์ บางแห่งหน้าตาดี บางแห่งก็หน้าตาคล้าย 
Youth Hostel หรือ Backpacker มีหลายระดับราคาให้เลือก สามารถพักได้ตั้งแต่ 2-3 วัน ไปจนถึงเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี แต่โดยมากห้องจะไม่ค่อยว่างสำหรับการเข้าพักระยะสั้น  
 
ห้องพักโดยมากจะมีลักษณะดังนี้
 
  • มีห้องนอนส่วนตัว พร้อมเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นและเครื่องนอนให้ครบทุกชิ้น ไม่ต้องหามาเองหรือแยกเช่าต่างหาก
  • อาจมีหรือไม่มี ที่จอดรถ
  • มีพื้นที่ส่วนกลางในยูนิต โดยนักเรียนแชร์ห้องนั่งเล่น ห้องครัว กับนักเรียนอีก 1-4 คน ที่อยู่ในอพาร์ทเม้นท์เดียวกัน 
  • มีห้องน้ำในตัวหรือแชร์ห้องน้ำกับผู้เช่าคนอื่นๆ 
  • ไม่มี  บริการซักรีดเสื้อผ้า นักเรียนต้องซักรีดเสื้อผ้าเอง
  • มีเครื่องซักผ้าของตึกให้ใช้ เป็นระบบหยอดเหรียญ ต้องนำผงซักฟอกไปเอง
  • ไม่มี อาหารรวมให้ในค่าห้อง จะต้องทำกินเองหรือออกไปหารับประทานเอง แต่อพาร์ทเม้นท์ไหนที่ในห้องไม่มีครัวให้ จะมี Communal kitchen (ครัวกลางสำหรับให้ผู้พักอาศัยใช้ร่วมกัน) ให้นักเรียนไปทำกับข้าวทานเองได้ 
  • มีเป็นบางแห่ง บริการทำความสะอาดห้องพัก เช่น สัปดาห์ละหน 
  • อัตราค่าเช่ารวมค่าน้ำค่าไฟให้ด้วยแล้ว มีทั้งอัตรารายวัน, รายสัปดาห์, รายเดือน 
  • มี Wireless Internet
  • มีหรือไม่มี Facilities อื่นๆ เช่น ห้องออกกำลังกาย เกมส์รูม สระว่ายน้ำ ห้องสมุด
  • โดยมากไม่มี Tutor ประจำ , ไม่มีกิจกรรมในหอ
 


บ้านเช่า/ แฟลต (Rental Home, Flat) สำหรับนักศึกษาที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป


  • เป็นบ้านเช่าที่มีผู้เช่าหารค่าใช้จ่ายกัน (ไม่ได้เป็นแฟลตสไตล์ตึก หรือเป็นห้องเช่าในตึกแบบที่คนไทยคุ้นเคย)
  • บางแห่งมีเฟอร์นิเจอร์ให้ บางแห่งต้องหาเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างเข้าไปเอง 
  • ทำสัญญาขั้นต่ำ 6 เดือน และต้องมีคนนิวซีแลนด์เซ็นค้ำประกัน แต่หากไปแชร์บ้านที่มีคนอื่นทำสัญญาเช่าไว้แล้วและปล่อยเช่าต่อ (sub-let) ก็ไม่ต้องกังวลกับจุดนี้
  • ต้องจ่ายเงินประกันการเช่า (Bond) เผื่อทำอะไรแตกหักเสียหายหรือค้างค่าเช่า 
  • บ้านส่วนใหญ่มีโรงรถซึ่งจอดได้คันเดียว  รถคันอื่นๆถ้ามี ต้องจอดริมถนนหน้าบ้าน หรือบน driveway ในบริเวณบ้าน  
  • มีอิสระในการอยู่อาศัย สามารถเข้าออกกี่โมงก็ได้  ไม่มีกฎระเบียบต้องปฎิบัติตาม
  • ไม่มีผู้ดูแลประจำวัน มีแค่ Accommodation Office หรือ Landlord (เจ้าของบ้านเช่า) เอาไว้ติดต่อเวลามีอะไรในบ้านเสียหายหรือหมดอายุการใช้งาน  
  • นักศึกษาต้องดูแลทุกอย่างในบ้านด้วยตนเอง (ทำความสะอาด, แชร์ค่าน้ำ,ค่าไฟฟ้า,เอาขยะออกวางหน้าบ้านในวันขยะ) โดยแชร์หน้าที่และค่าใช้จ่ายกับ Flatmate 
  • เหมาะกับนักศึกษาที่วางแผนอยู่ในนิวซีแลนด์ระยะยาว และต้องการร่วมบ้านกับ นศ.กีวีและ นศ.นานาชาติ หรือกับนร.ไทยด้วยกัน 
  • นักศึกษาที่พักลักษณะนี้ส่วนมากจะมีรถขับ เนื่องจากบ้านเช่าราคาประหยัดมักไม่ได้มีที่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง  

  • ENZ_Tu Ngatahi_Lockup_RGB.jpg
    Tū Ngātahi TūNgātahiis ateReoMāori phrasecalling us to‘stand together’. We want to show international students that they are welcome here, andwe all benefitwhen wework together. R...

  • 5079_OULC_3343.jpg
    นิวซีแลนด์มีหลักสูตรภาษาอังกฤษที่สามารถตอบสนองความต้องการหลากหลายของผู้เรียนได้เป็นอย่างดีไม่ว่าคุณจะมาเดี่ยว มาคู่ มาเป็นครอบครัว หรือมาเป็นกลุ่ม, มีเวลาเรียน 1 สัปดาห์หร...

  • U of Otago LCFY.jpg
    หลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (ESOL- English for Speakers of Other Languages)ในนิวซีแลนด์ ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา จนป...

  • 5079_Campbell-Institute_4109.jpg
    กลุ่มเป้าหมายของการเรียนการสอนภาษาในตลาดโลก ค่อนข้างจะต่างจากตลาดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในไทย ที่เน้นไปทางตลาดเด็กวัยรุ่นและนักเรียนนักศึกษา ในตลาดวิชาใหญ่ของโลก รวมทั้งในประเทศนิวซ...

  • Pic from August 2016 newsletter.jpg
    สัดส่วนนักเรียนจากประเทศต่างๆ (Nationalities Mix) ของสถาบันภาษา เป็นข้อมูลที่เปลี่ยนทุกสัปดาห์!ปกติจำนวนนักเรียนจากแต่ละประเทศจะขึ้นกับช่วงเวลาเปิด-ปิดเทอม, ช่วงเวลาที่นักศึกษาสำเร...

  • NZ coins.jpg
    ค่าใช้จ่ายในการเรียนภาษา แบ่งออกได้เป็นสามส่วน ส่วนที่หนึ่ง ค่าใช้จ่ายของทางโรงเรียน:ชำระก่อนทำวีซ่า โดยทั่วไปประกอบด้วย 1. ค่าเล่าเรียน คิดเป็นต่อสัปดาห์ โดยนับตั้งแต่วันจันทร์-ศ...

  • bungy dive.JPG
    นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง สถานที่ท่องเที่ยวทั้งแนวธรรมชาติและ man-made เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวและข้อมูลการท่องเที่ยว มีศูนย์ข้อมูลนักท่...

  • Work right.jpg
    เว็บไซต์ของ Education New Zealand และ NaumaiNZได้สรุปและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์และครบรอบด้านเกี่ยวกับสิ่งที่นักศึกษาต่างชาติควรทราบเกี่ยวกับการหางานทำในนิวซีแลนด...
กรุณากรอกข้อความ...
Visitors: 154,657