อายุที่รับเข้าเรียน

เครดิตภาพ: Wanganui Collegiate School, Wanganui

นักเรียนต่างชาติสามารถไปเรียนที่นิวซีแลนด์ได้ทุกช่วงอายุ ซึ่งแต่ละช่วงอายุ ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดของการไปเรียนแตกต่างกันออกไป สำหรับการไปเรียนในระดับประถมและมัธยม ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ก่อนตัดสินใจ เนื่องจากแต่ละช่วงอายุมีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดของการไปเรียนที่ค่อนข้างเห็นเด่นชัด ทาง Smart NZ จึงจะขอจัดแบ่งกลุ่มอายุของนักเรียนออกเป็น 4 ช่วง ซึ่งเป็นการจัดแบ่งตามระบบโรงเรียนในนิวซีแลนด์ ดังนี้ 
  • กลุ่มที่หนึ่ง นักเรียนที่มีอายุน้อยกว่า 11 ปี
  • กลุ่มที่สอง นักเรียนที่มีอายุระหว่าง 11-12 ปี
  • กลุ่มที่สาม นักเรียนที่มีอายุระหว่าง 13-14 ปี
  • กลุ่มที่สี่ นักเรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

กลุ่มที่หนึ่ง อายุน้อยกว่า 11 ปี เข้าเรียนในระดับประถม (Primary School) Year 1-6 (เทียบเท่าชั้น ป.1-ป.6 ของไทย) โดยเกณฑ์อายุเข้าเรียนชั้น Year 1 คือนักเรียนจะต้องมีอายุครบ 5 ขวบแล้วภายในเดือนมีนาคมของปีที่เข้าเรียน

         


ข้อดี

  • นักเรียนจะพูดภาษาอังกฤษได้ดีเทียบเท่า Native Speaker ทำให้มีความสามารถที่จะเรียนได้ทัดเทียมกับเพื่อนๆ ชาวนิวซีแลนด์
  • ระบบการศึกษาที่เน้นการเรียนเป็นรายบุคคล ทำให้นักเรียนค้นพบศักยภาพตัวเองและ "ถูกค้นพบ" เร็ว
  • นักเรียนได้เล่นกีฬาและทำกิจกรรมในวัยเด็กอย่างเต็มที่ ไม่ถูกบังคับเรียนจนหัวโตในขณะที่ร่างกายยังต้องการการพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ อยู่ ผลที่ได้รับที่เห็นได้ชัดเจนคือนักเรียนจะเติบโตเป็นเด็กที่แข็งแรงไม่ขี้โรค มีความสุข มี EQ ดี มีพัฒนาการสมวัย รู้จักให้ รอ และแบ่งปัน รู้จักการทำงานเป็นทีม
  • การได้เล่นกีฬาและเรียนดนตรีในวัยนี้ เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับอนาคต ที่จะต่อยอดเป็นมืออาชีพทางดนตรีและกีฬา สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของนิวซีแลนด์ที่มีวัฒนธรรมดนตรี+กีฬา และชีวิตประจำวันที่ไม่เร่งรีบ ทำให้เด็กมีพื้นที่ฝึกฝน แสดงออก และฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ นักเรียนที่ไปเรียนในวัยนี้จะเข้าร่วม Soccer Club, Rugby Club ซึ่งมีการซ้อมประจำสัปดาห์และไปแข่งขันในแม็ตช์ต่างๆทั้งในเมืองเดียวกันและต่างเมือง เป็นประสบการณ์ที่หาค่าไม่ได้ เมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่น การเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ถ้าเด็กไม่รักจริงก็จะไม่เล่น ไม่กลมกลืนเป็นธรรมชาติหรือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือนเริ่มทำในวัยเด็ก
  • หากเป็นเด็กพิเศษ นักเรียนจะได้รับการปฎิบัติด้วยอย่างปัจเจกบุคคล ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมทั้งทางร่างกายและจิตใจ โรงเรียนสามารถจัดนักเรียนเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ โดยสอดแทรกโปรแกรมการสอนที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลให้ ทำให้น้องสามารถเติบโตและพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้ มีความนับถือตัวเอง และเป็นภาระน้อยลงในระยะยาวต่อตัวนักเรียนเองและต่อคุณพ่อคุณแม่

 

ข้อเสีย

  • ข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือภาษาไทยจะไม่แข็งแรง พ่อแม่ต้องสนับสนุนให้เรียนภาษาไทยเสริมอย่างสม่ำเสมอและพูดภาษาไทยด้วยบ่อยๆ
  • น้องอาจไม่ผูกพันกับประเทศไทยและสังคมไทย และอาจไม่เข้าใจวิถีไทย วัฒนธรรมไทย ทำให้หากต้องการกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยอาจต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่

 

ข้อจำกัด

  • กฎหมายนิวซีแลนด์กำหนดให้นักเรียนต่างชาติวัยนี้ จะต้องมีคุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนหนึ่งเดินทางไปอยู่ดูแลเป็นเพื่อนลูกตลอดระยะเวลาที่ลูกเรียนอยู่ที่นิวซีแลนด์ ทั้งนี้จนกว่าลูกจะอายุครบ 11 ปี หรือ 13 ปีในบางโรงเรียน
  • ท่านไม่สามารถฝากให้คนอื่นเลี้ยง แม้ว่าจะเป็นญาติหรือเพื่อนสนิท และไม่สามารถจัดให้ลูกอยู่โฮมสเตย์หรือหอพักนักเรียนประจำ
  • นอกจากนั้น คุณพ่อหรือคุณแม่ที่ไปอยู่ดูแลลูก จะต้อง "ตัวติด" กับลูกตลอดเวลา ลูกอยู่ที่ไหนท่านก็ต้องอยู่ด้วย หากมีความจำเป็นต้องเดินทางออกจากนิวซีแลนด์แม้จะเป็นการชั่วคราว ก็จะต้องพาลูกเดินทางออกไปด้วยกัน
  • พ่อหรือแม่ที่ไปอยู่เฝ้าลูก ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ไม่ว่าจะพาร์ทไทม์หรือฟูลไทม์ แต่สามารถลงเรียนภาษาแบบพาร์ทไทม์ได้

กลุ่มที่สอง   อายุ 11-12 ปี เข้าเรียนในระดับมัธยมต้น (Intermediate School) Year 7-8 (เทียบเท่าชั้น ม.1-ม.2 ของไทย) โดยเกณฑ์อายุเข้าเรียนชั้น Year 7 คือนักเรียนควรต้องมีอายุครบ 11 ปีก่อนจบเทอม 1 ของนิวซีแลนด์   
 
    
 
ข้อดี 
  • ในวัยนี้ กฎหมายนิวซีแลนด์อนุญาตให้สามารถเดินทางไปเรียนได้โดยไม่ต้องมีพ่อแม่ไปเฝ้าดูแล
  • คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ลูกอยู่โฮมสเตย์หรืออยู่โรงเรียนประจำ
  • หากเรียนต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมปลาย นักเรียนจะพูดภาษาอังกฤษได้ดีเกือบเทียบเท่า Native Speaker ทำให้มีความสามารถที่จะเรียนทัดเทียมกับเพื่อนๆชาวนิวซีแลนด์ และมีโอกาสที่จะเป็น Top Scholar มีโอกาสที่จะเป็น Prefect หรือกัปตันทีมกีฬาได้
  • นักเรียนมีอายุมากพอที่จะอ่านเขียนภาษาไทยได้ดีแล้วก่อนที่จะเดินทางไปเรียนที่นิวซีแลนด์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับอนาคต
  • ข้อดีอื่นๆ เหมือนหรือใกล้เคียงกับนักเรียนที่ไปตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 11 ปี
 
ข้อเสีย
  • สิ้นเปลืองค่าเครื่องแบบนักเรียนหากปีถัดไปจะต้องย้ายโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียน Intermediate ส่วนใหญ่จะผูกกับ รร.ประถม หรือไม่ก็เป็น Intermediate School เพียวๆ ไม่มีทั้งชั้นประถมและชั้นมัธยม  ทำให้นักเรียนต้องเปลี่ยนโรงเรียนเมื่อเรียนจบชั้น Year 8 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของทางโรงเรียน (ค่าเครื่องแบบนักเรียนเข้าใหม่ประมาณปีละ 10,000-20,000 บาท)
 
ข้อจำกัด 
  • ไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่มีชั้น Year 7-8 จะสามารถรับนักเรียนอินเตอร์อายุเท่านี้เข้าเรียน ทั้งนี้เนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งที่มี Year 7-13 จะปฏิเสธที่จะรับนักเรียนอินเตอร์อายุุ 11-12 เข้าเรียน และจะเริ่มรับนักเรียนอินเตอร์ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไปเท่านั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดของการจัดหาโฮมสเตย์ (หาโฮมสเตย์ให้แทบจะไม่ได้ เนื่องจากมีโฮมสเตย์น้อยบ้านที่พร้อมจะรับนักเรียนอายุต่ำกว่า 13 ปีไปอยู่ด้วย) 
  • โรงเรียนที่รับเข้าเรียนได้ หลายแห่งจะกำหนดว่านักเรียนจะต้องอยู่ประจำเท่านั้น ไม่มีออพชั่นอยู่โฮมสเตย์สำหรับอายุเท่านี้
  • ค่าโฮมสเตย์สำหรับนักเรียนอายุ 11-12 ปี จะแพงกว่าอัตราปกติ เพราะโฮสต์จะบวกค่าดูแลพิเศษเข้าไปด้วย จากอัตราปกติ $35 ต่อวัน  อัตราเด็กต่ำกว่า 13 อาจจะขึ้นไปถึง $40 - $50 ต่อวัน 

กลุ่มที่สาม   อายุ 13-14 ปี เข้าเรียนในระดับมัธยมปลายจูเนียร์ไฮสคูล (Junior High School) Year 9-10  (เทียบเท่าชั้น ม.3-ม.4 ของไทย) โดยเกณฑ์อายุเข้าเรียนชั้น Year 9 คือนักเรียนควรต้องมีอายุครบ 13 ปีก่อนจบเทอม 1 ของนิวซีแลนด์   
 
   
 
ข้อดี 
  • เป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการไปเรียนมัธยมที่นิวซีแลนด์ เพราะในวัยนี้นักเรียนจะมีความพร้อม มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะดูแลตัวเองทั้งในเรื่องของความปลอดภัยของตัวเองและการเรียน 
  • นักเรียนช่วงวัยนี้สามารถเลือกอยู่โฮมสเตย์หรือหอพักนักเรียนประจำก็ได้ พ่อแม่ไม่ต้องไปอยู่เฝ้า 
  • เวลาโฮสต์ไม่อยู่บ้านก็สามารถอยู่ในบ้านได้ตามลำพัง (โฮสต์จะไม่ปล่อยนักเรียนอยู่บ้านตามลำพังในเวลากลางคืน) ส่วนใหญ่นักเรียนจะเลิกเรียนและกลับถึงบ้านก่อนที่โฮสต์จะกลับจากทำงาน 
  • ส่วนใหญ่จะยังไม่สนใจเพื่อนต่างเพศ ทำให้มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนดี 
  • ลิ้นยังไม่แข็งมาก ยังสามารถพัฒนาทักษะการใช้ภาษาได้อย่างรวดเร็ว
  • เป็นช่วงวัยที่ไวต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบๆตัว นักเรียนส่วนใหญ่รู้จัก, เข้าใจและสามารถเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมในการปรับตัวเข้ากับครอบครัวใหม่ เพื่อนใหม่ สังคมใหม่ โรงเรียนใหม่
  • เป็นช่วงอายุที่ หิวกระหาย อยากจะเรียนรู้ทุกอย่างที่อยู่รอบๆ ตัว และยังไม่มีความกระดากอายหรือเสียหน้านักที่จะบอกว่าตัวเองไม่รู้  
  • เป็นช่วงอายุที่สภาวะทางอารมณ์มั่นคงขึ้นกว่าวัย 10-12 ปี จึงสามารถรับมือกับการต้องอยู่ไกลบ้าน ต้องห่างจากพ่อแม่ได้ สามารถนอนคนเดียวได้โดยไม่ต้องเปิดไฟ ไม่กลัวผี (สองปัญหานี้เจอมากในน้องๆ อายุ 10-12 ปี)  
  • เมื่อนักเรียนไม่รู้สึกแปลกแยก การเรียนก็จะเป็นไปได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นธรรมชาติ  
  • ทั้งนี้ การเรียนใน Year 9 และ 10 จะต่างจาก Senior Year เนื่องจากนักเรียนจะได้เรียนวิชาที่หลากหลาย ยังได้เล่นกีฬาเป็นวิชาบังคับ จุดมุ่งหมายคือเพื่อให้ค้นหาตัวเองและความถนัดของตัวเองให้เจอ ก่อนจะลงเรียนวิชาที่เฉพาะเจาะจง (specialize) มากขึ้น ในซีเนียร์เยียร์ คือ Year 11-13  การได้เล่นกีฬากับเพื่อนวัยเดียวกัน และการเรียนทุกวิชาเหมือนๆกัน ทำให้น้องมีสังคมที่เหนียวแน่น ซึ่งเอื้อต่อการปรับตัวได้ มีเพื่อนเป็นกลุ่มก้อนให้คบหา มีการทำกิจกรรมร่วมกัน และมีความสุขกับการเรียน

  วงจรชีวิตของนักเรียนที่ปรับตัวได้และมีความสุข

  • การมีเวลาปรับภาษานานพอก่อนจะขึ้นชั้นซีเนียร์เยียร์ ส่งผลให้นักเรียนสามารถมีผลการเรียนที่ดี มีความมั่นใจในตัวเอง  นี่เป็นเหตุผลหลักที่คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาส่งลูกไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่อายุ 13-14 
 
ข้อเสีย
  • หากไปในช่วงอายุนี้ต้องทำใจว่าวุฒิการศึกษาไทยสูงสุดที่ลูกจะได้คือวุฒิ ม.1 หรือ ม.2 เท่านั้น
 
ข้อจำกัด 
  • ด้วยงบประมาณปีละ 8-9 แสนบาทสำหรับค่าใช้จ่ายตลอดปีในนิวซีแลนด์ ครอบครัวที่มีงบประมาณจำกัดอาจไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ตั้งแต่เยียร์ 9-10 และอาจต้องรอให้ลูกไปขวนขวายกับการเรียนเอาเองในเยียร์ 11-12 เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย   

กลุ่มที่สี่  อายุ 15 ปีขึ้นไป เข้าเรียนในระดับมัธยมปลายสองหรือสามปีสุดท้าย (Senior Secondary School) Year 11-13 เทียบเท่าชั้น ม.5 ม.6 และปี 1 มหาวิทยาลัยไทย

   
 
ข้อดี 
  • เป็น "โค้งสุดท้าย" หากต้องการให้ลูกได้มีโอกาสเรียนมัธยมในต่างประเทศ
  • เป็นทางเลือกที่ดี สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกเข้าคณะต่างๆที่เป็นอินเตอร์โปรแกรมในระดับมหาวิทยาลัย เพราะนักเรียนที่ไม่เคยผ่านการเรียนในต่างประเทศหรือไม่เคยเรียนหลักสูตรอินเตอร์ในโรงเรียนอินเตอร์มา ส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำคะแนนภาษาอังกฤษและคะแนน SAT ได้ถึงเกณฑ์รับเข้า
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวม เพราะเหลือเวลาเรียนอีกเพียงแค่ 2 ปีก็จะจบการศึกษา
  • ค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยถูกกว่าหรือพอๆ กับส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ในประเทศไทย
  • ลูกได้ภาษาแน่นอน ถึงแม้จะต้องใช้ความพยายามมากกว่าน้องๆที่ไปเริ่มเรียนตอนอายุน้อยกว่านี้
  • ลูกมีวุฒิภาวะมากพอที่จะเลือกเส้นทางการเรียนของตัวเองได้ ไม่ต้องดูแลมากเหมือนเมื่อตอนเด็กๆ
  • นักเรียนซีเนียร์เยียร์ 12 ที่ภาษาดีและการเรียนดีแล้ว สามารถขอให้ทาง รร. และพ่อแม่ออกจดหมายอนุญาตให้ทำงานพาร์ทไทม์ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้ก่อนขอวีซ่าของปีนั้น 

 

ข้อเสีย
  • นักเรียนที่อายุ 15 แล้ว (รอเรียนจบ ม.3 ก่อนจะไป) ควรได้เรียน Year 11 ตามเกณฑ์อายุ แต่ถ้าหากภาษายังไม่ดีพอที่จะเรียน Year 11 (แถมส่วนใหญ่ไปเริ่มเรียนในเทอม 2 จึงเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิงที่จะให้เรียน Year 11) จะต้องลงเรียนในเยียร์ 10 -เทียบเท่า ม.4 เพื่อปรับภาษาก่อนหนึ่งปี ซึ่ง Year 10  เป็นระดับชั้นของเด็กอายุ 14 ที่นิวซีแลนด์  
  • แต่ถ้านักเรียนอายุ 15 แก่ๆ ใกล้จะ 16 แล้ว โรงเรียนส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาโดยการลงทะเบียนนักเรียนว่าสังกัด Year 11 (ไม่เอาไปเรียนปนกับ Junior) แต่อาจให้เลือกเรียนวิชาที่มี Internal Assessment เยอะหน่อย อาจมีหรือไม่มี External exam (ดีในแง่ที่ว่าได้เครดิตค่อนข้างชัวร์ แต่จะไม่มีโอกาสได้ Merit หรือ Excellent เลย ซึ่งจะมีผลกับ GPA เวลานำมาเทียบวุฒิ)   
  • นักเรียนที่ไปตอนอายุ 15-16 จะต้องมีทั้งความตั้งใจและความอดทนอย่างแรงกล้า เพื่อจะปรับภาษาให้ใช้การได้ในเวลาที่จำกัด เมื่อปรับภาษาได้แล้วก็อาจไม่มีเวลาทำอย่างอื่นที่เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เนื่องจากต้องตั้งใจเรียนอย่างมากเพื่อให้สอบวัดผลปลายปีได้เครดิตครบเพื่อกลับมาเทียบวุฒิ ม.6
  • ในวัยนี้ นักเรียนเริ่มจะ "ลิ้นแข็ง" แล้ว และจะต้องใช้ความพยายามมากเป็นสามเท่าของเด็กกีวี และเป็นสองเท่าของเด็กไทยที่มาเรียนก่อนหน้าแค่ปีสองปี เพื่อจะเรียนให้ได้เท่าเขา ถ้าพื้นนิสัยของลูกเป็นคนอดทนก็จะผ่านไปได้ แต่ถ้าเป็นคนเหลาะแหละ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ไม่มีวินัยในการอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเรียนจะมีค่อนข้างน้อย อาจเรียนได้แค่พอผ่าน เป็นที่หนักอกหนักใจของครูอาจารย์ (แต่ถ้าอยู่เมืองไทยก็เหลวอยู่ดีและท่านไม่มีอะไรจะเสีย การไปนิวซีแลนด์แล้วกลับมาเทียบวุฒิ  เพื่อจะลุ้นเข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่เป็นอินเตอร์โปรแกรม ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนที่เรียนในระบบไทยไปก็มีแนวโน้มจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในฝันไม่ได้)
  • อาจเกิดกรณีท่านอยากให้ลูกไป แต่ลูกไม่อยากไป เพราะวัยนี้จะมีสังคมของตัวเองนอกบ้าน อาจติดเพื่อนมาก ซึ่งการไปเรียนด้วยความฝีนใจย่อมไม่เป็นผลดีกับทั้งตัวผู้เรียนและเจ้าของทุน!
  • สำหรับลูกที่มีปัญหา การย้ายประเทศเรียนอาจไม่ได้ช่วยท่านแก้ปัญหา แต่อาจทำให้ปัญหาหนักหนายิ่งขึ้นและท่านจะอยู่ไกลเกินกว่าจะไปตามแก้ปัญหาให้เหมือนตอนอยู่เมืองไทย โอกาสมีครึ่งต่อครึ่งที่ลูกจะสำนึกได้หรือจะยิ่งถลำลึกจนเกินเยียวยาและอาจเรียนไม่จบ เท่ากับว่าท่านมีโอกาสเสียเงินฟรี
 
  ข้อจำกัด
  • ไม่มี หากมีจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในครอบครัว ว่าควรจะให้ไปตอนนี้หรือว่ารอจนกว่าจะเรียนจบปริญญาตรีเสียก่อนแล้วค่อยไป คำตอบคือ สำหรับภาษาอังกฤษ ไปตอนนี้ก็ได้ตอนนี้และจะแผ้วทางสำหรับการเรียนตรี โท เอกได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเรียนในไทยหรือไปต่อเมืองนอก ประสบการณ์ที่จะได้กลับมาจะอยู่กับลูกไปจนตลอดชีวิต  ลูกจะเป็นคนเต็มคนขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รู้จักแยกแยะควรไม่ควรมากขึ้น 

Credit ภาพ:
Middleton Grange School |  Columba College  |  Westlake Boys' High School  |  Wanganui Collegiate School  |  Long Bay College  |  Bethlehem College
Rathkeale College  |  Waikato Diocesan School for Girls  |  Mt Aspiring College  |  Burnside High School  |  John McGlashan College  |  Scots College

Visitors: 154,134