ประเภทของโรงเรียนมัธยม

ประเภทของโรงเรียนมัธยม


ถาม โรงเรียนนิวซีแลนด์มีทั้งหมดกี่แบบ ต่างกันอย่างไร
ตอบ แบ่งได้หลายแบบมาก ขึ้นอยู่กับว่าเอาอะไรเป็นเกณฑ์ เช่น

• ถ้าเอาลักษณะความเป็นเจ้าของเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 3 แบบ คือ โรงเรียนรัฐ (State School) , โรงเรียนเอกชน (Private หรือ Independent School) และโรงเรียนที่เอกชนเป็นเจ้าของสถานที่ แต่รับเงินค่าดำเนินการจากรัฐ ที่เรียกว่า State-Integrated คือกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชน

• ถ้าเอาเพศของเด็กเป็นเกณฑ์ ก็ต้องบอกว่า มี 3 แบบ คือโรงเรียนสหศึกษา, ชายล้วน และหญิงล้วน

• ถ้าเอาระดับชั้นที่เปิดสอนเป็นเกณฑ์ ก็จะแบ่งออกได้เป็น 5 แบบ คือ
o Primary School (Yr 1-6)
o Intermediate หรือ Middle School (Yr 7-8)
o Secondary หรือที่เรียกกันติดปากว่า High School (Yr 9-13)
o และ Composite หรือ Area School (Yr 1-13)
o แถมเดี๋ยวนี้มีลูกผสม คือโรงเรียนที่รวมเอา Middle School กับ High School เอาไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเปิดสอนตั้งแต่ Yr 7-13  จะพบมากในกลุ่มโรงเรียนในเครือคริสตจักรที่เป็น State Integrated และในเขตการศึกษาห่างไกล ที่มีจำนวนนักเรียนในระดับชั้น Intermediate ไม่มากพอที่จะเปิดเป็นโรงเรียน Intermediate เป็นการเฉพาะ

• ถ้าเอาประเภทที่พักเป็นตัวตั้ง ก็ต้องบอกว่ามี 2 แบบ คืออยู่ประจำกับอยู่โฮมสเตย์

• ถ้าเอาจำนวนนักเรียนเป็นตัวตั้ง ก็ต้องบอกว่ามี 4 แบบ คือโรงเรียนขนาดใหญ่ นักเรียน 1,200 คนขึ้นไป, ขนาดกลาง นักเรียน 600-1200 คน, ขนาดเล็ก นักเรียน 300-600 คน และขนาดจิ๋ว นักเรียน 30-299 คน

• ถ้าเอาสถานที่ตั้งโรงเรียนเป็นตัวตั้ง ก็ต้องบอกว่า มี City School และ Local School
o City School เป็นโรงเรียนที่สามารถรับนักเรียนจากนอกโซนที่โรงเรียนตั้งอยู่ได้ กรณีนี้นักเรียนจะมาจากทั่วทุกสารทิศ โดยปกติจะเป็นโรงเรียนเอกชนหรือกึ่งเอกชนที่ได้รับความนิยม
o Local School เป็นโรงเรียนรัฐที่มีกฎว่าต้องรับนักเรียนทุกคนที่อยู่ในโซนที่โรงเรียนตั้งอยู่ก่อน เสร็จแล้วถ้ามีที่ว่างเหลือสามารถเปิดรับนักเรียนนอกโซนได้ด้วยวิธีจับฉลาก

 

จากประสบการณ์บอกได้ว่า การเป็น City หรือ Local School ไม่มีผลกับตำแหน่งที่ตั้งของบ้านโฮมสเตย์ แต่จะมีผลกับสไตล์ของนักเรียนที่เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียน (เช่นมาจากครอบครัวที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างไร)

 

จะเห็นว่าพ่อแม่และนักเรียนต้องทำการบ้านหนักมาก ว่าจะเลือกโรงเรียนที่มีบรรยากาศแบบไหน ให้สอดคล้องและประนีประนอมกับความต้องการของพ่อแม่และของนักเรียนมากที่สุด


ความจริงบางประการเกี่ยวกับการไปเรียนเมืองนอกและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกโรงเรียน

 โรงเรียนที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องแพงที่สุด

 โรงเรียนที่เหมาะกับนักเรียนคนหนึ่ง อาจไม่เหมาะกับนักเรียนอีกคนหนึ่ง

 โรงเรียนให้ดียังไง ถ้านักเรียนไม่สนใจเรียน ไปเรียนที่ไหนก็ไม่แตกต่าง

 การไปเรียนเมืองนอก ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการไปทัวร์แบบประเดี๋ยวประด๋าว นักเรียนจะมีครบทุกอารมณ์ ทั้งสุข สนุกสุดขีด รู้สึกตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจ ทึ่งกับสิ่งแวดล้อมใหม่รอบตัว ซาบซึ้งกับไมตรีของคนแปลกหน้า สักพักหนึ่งอาจเกิดอารมณ์สับสน มึนงง ตั้งตัวไม่ติด ไม่รู้จะไปซ้ายหรือขวา ทำอะไรก็ติดๆขัดๆ เพราะคิดได้แต่พูดไม่ออก อาจรู้สึกทำไมตัวเองตามอะไรไม่ค่อยทัน เพราะโน่นก็ใหม่ นี่ก็ไม่รู้ จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มแก้ตรงไหนก่อน ถ้าหลุดจากตรงนี้ไม่ได้ อารมณ์ต่อมาคือหดหู่ ซึมเศร้า แยกตัว อยากกลับบ้าน อยากกินอาหารไทย อยากมีอิสระไปไหนๆ ได้คล่องๆ เหมือนตอนอยู่เมืองไทย ในที่สุดก็จะทำทุกอย่างไปอย่างแกนๆ ไม่สมกับที่โชคดีได้มีโอกาสมาเรียนถึงต่างประเทศ

 เด็กที่จะประสบความสำเร็จกับการเรียนและการใช้ชีวิตในเมืองนอก ไม่ถึงกับต้องลุยน้ำลุยไฟได้ ชีวิตไม่ได้ลำบากขนาดนั้น แต่ต้องไม่ติดหรูจนเกินพอดี ไม่เป็นคุณหนู ไม่มีนิสัยนั่งรอให้ใครมาปรนนิบัติเอาใจ แสดงออกได้สมวัย (ไม่แก่แดดเกินวัยและไม่มีนิสัยเด็กกว่าวัยมากเกินไป) รู้จักให้และรับอย่างพอเหมาะพอดี เป็นผู้ฟังและผู้เรียนที่ดี รับผิดชอบหน้าที่และชีวิตประจำวันของตนเองได้ มีวินัยพอที่จะปฏิบัติตนตามกฎของบ้านโฮมสเตย์และกฎของโรงเรียนได้

 นอกจากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ไปเรียนต่างประเทศ ตัวนักเรียนควรจะต้องมีความกระตือรือร้นและมีความต้องการที่จะไปเรียนเองด้วย เพราะเด็กที่ถูกบังคับให้ไปเรียน จะไม่มีแรงพอจะสู้กับแรงกดดันต่างๆ และการต้องยืนบนลำแข้งของตัวเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมใหม่

 พ่อแม่ต้องมีเวลาให้กับลูกมากขึ้น ในยามห่างกาย ลูกวัยรุ่นจะต้องการกำลังใจจากคุณมากและบ่อยเป็นพิเศษ ควรจะแน่ใจว่า คุณมีเวลาที่จะโทร.หาเขาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และยินดีรับฟังทุกครั้งที่ลูกโทร.มาขอคำปรึกษา ไม่ว่าคุณจะเห็นว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน หรือว่าคุณจะยุ่งขนาดไหนก็ตาม ห้ามบอกว่าไม่ว่างคุย เพราะเวลาของสองประเทศที่แตกต่าง ลูกอาจต้องรออีกเป็นวัน กว่าจะติดต่อคุณได้อีกครั้งหนึ่ง


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกโรงเรียน

A. งบประมาณของครอบครัว

B. ลักษณะของโรงเรียนเดิมในเมืองไทย เช่น นักเรียนที่มาจากโรงเรียนเอกชนในเมืองไทย มีแนวโน้มจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนเอกชนหรือกึ่งเอกชนในต่างประเทศได้ดีกว่าจะไปเรียนในโรงเรียนรัฐ แม้ว่าโรงเรียนรัฐในต่างประเทศจะมีมาตรฐานใกล้เคียงกับโรงเรียนเอกชนในเมืองไทยก็ตาม

C. ความคาดหวังของครอบครัวที่มีต่อโรงเรียนและผลการเรียนของนักเรียน

โรงเรียนเอกชนและกึ่งเอกชนส่วนใหญ่ “ขายได้” ด้วยการให้บริการทางการศึกษาแบบเข้มข้น มีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานมากกว่าและมีงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างที่สูงกว่าโรงเรียนรัฐ ทำให้สามารถดึงดูดบุคลากรคุณภาพจากหลากหลายประเทศ โรงเรียนเอกชนและกึ่งเอกชนส่วนมากจะมีกฎระเบียบเข้มงวดกว่าโรงเรียนรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในรูปแบบของเครื่องแต่งกาย การไม่อนุญาตให้ใส่เครื่องประดับหรือทำผมทรงแปลกๆ การเข้าโบสถ์ประจำสัปดาห์ ชั่วโมงเรียนวิชาศาสนา กิจกรรมกีฬา ฯลฯ ในขณะที่บรรยากาศของโรงเรียนรัฐ นักเรียนจะมี “Free thinking” มากกว่า และมีวิชาเรียนให้เลือกเรียนหลากหลายกว่า

ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือได้หลายแหล่ง ระบุตรงกันว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีผลการเรียนดีขึ้นหรือดีกว่าเดิม เมื่อเรียนในโรงเรียนชายล้วนหรือหญิงล้วน เพราะไม่มีเพศตรงข้ามมาเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการเรียน

ผลการวิจัยยังบอกอีกว่า นักเรียนในโรงเรียนชายหรือหญิงล้วน มีโอกาสเรียนรู้และทำได้ดี ในทักษะที่ดูเหมือนว่าจะเป็นทักษะของอีกเพศหนึ่ง เช่น นักเรียนหญิงในโรงเรียนสหศึกษา จะรู้สึกว่างานไม้หรือกีฬาฟุตบอลเป็นวิชาและกีฬาสำหรับเด็กผู้ชายและจะไม่ลงเรียนหรือเข้าร่วมเด็ดขาด แม้จะมีใจรักอยากจะเรียน เพราะ 1) ไม่มีเพื่อนผู้หญิงด้วยกันลงเรียน 2) กลัวว่าถ้าเรียนจะกลายเป็นจุดเด่น ทำให้เพื่อนผู้หญิงด้วยกันหมั่นไส้ 3) กลัวว่าถ้าเรียนได้ดีเกินกว่าผู้ชายจะทำให้ไม่มีเพื่อนผู้ชายคนไหนกล้าคบ ในทางกลับกัน เด็กผู้ชายในโรงเรียนชายล้วน ถ้าเปลี่ยนไปอยู่โรงเรียนสหศึกษา คงจะไม่มีใครกล้าลงวิชาอย่างคหกรรมศาสตร์ ที่มีทั้งเย็บผ้า, ทำกับข้าว, หัดคิดทำงบประมาณครัวเรือน ซึ่งในนิวซีแลนด์ เราจะเห็นเด็กจากโรงเรียนหญิงล้วนเตะฟุตบอล, สร้างเรือลำโต ๆ, เชื่อมโลหะ และเห็นเด็กผู้ชายหุ่นบึ้กสนุกสนานกับการทำอาหารออกขายในงานของโรงเรียน หรือทำงานเย็บปักถักร้อยนำออกแสดงแฟชั่นโชว์ในงานโรงเรียน (โดยที่ไม่ได้มีความเบี่ยงเบนทางเพศ)

D. สภาพร่างกายของลูก เช่น ทนหนาวไม่ได้ ควรเลือกไปอยู่เกาะเหนือ ชอบกีฬาทางน้ำ ควรเลือกโรงเรียนที่มีกีฬาประเภทนี้ให้เล่น โรงเรียนที่นิวซีแลนด์หลายโรงเรียน มี training centre ในโรงเรียนสำหรับกีฬาบางประเภท เช่น บางโรงเรียนมี Golf Academy, Riding School, Sailing Academy, Theatre Drama Academy, Diving School อยู่ภายในโรงเรียน

E. ความต้องการหรือความชอบเฉพาะตัว เช่น ชอบโรงเรียนสหศึกษา ชอบโรงเรียนหญิงล้วน ชอบโรงเรียนชายล้วน หรือต้องการให้อยู่โรงเรียนประจำ เป็นต้น

Visitors: 153,919